เศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ circular economy เป็นที่รู้จักมาเป็นเวลากว่า 14 ปี แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.2 ของทุกประเทศในโลก นอกจากนี้ ยังพบว่า การนำวัสดุรีไซเคิลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีนี้ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 7.2 ในขณะที่ในปี 2561 มีสัดส่วนร้อยละ 9.1[1] จากข้อมูลของ World Economic Forum การดำเนินการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าจากการดำเนินการประมาณ 4.1 ล้านล้านยูโรภายในปี 2573[2] นอกจากนี้ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าการเปลี่นผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถสร้างงานได้ถึง 6 ล้านตำแหน่งทั่วโลก เนื่องจากบริษัทฯ หรือองค์กรที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการดำเนินงานแตกต่างจากรูปแบบการทำงานแบบเดิม
เปรูเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม รวมถึงการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเปรูเห็นว่าการดำเนินการตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยให้เปรูสามารถบรรลุเป้าหมายการดำเนินการดังกล่าว และจากการที่เปรูเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยปัจจุบัน เปรูมีการนำทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศมาใช้และส่งออกจำนวนมาก การนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้จะสามารถช่วยให้เปรูมีการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดปริมาณขยะ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง เป็นการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มการจ้างงาน กระทรวงการผลิตของเปรู (Peruvian Ministry of Production) ได้เริ่มดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการผลิต เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ และเพื่อเป็นแนวทางให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐของเปรูมีการดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนัก ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินการของภาคส่วนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน
การดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของเปรูได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงสิ่งแวดล้อม the National Council for Competitiveness and Formalization of the Ministry of Economy and Finance (MEF), the National Society of Industries (SNI) มหาวิทยาลัยและสถาบันทางการศึกษา เช่น University of Engineering and Technology (UTEC), “Instituto Superior TECSUP,” องค์กรด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น German Cooperation (GIZ), the European Team of the European Union and the Inter-American Development Bank (IDB)
ภาครัฐบาลของเปรูได้เร่งส่งเสริมการดำเนินเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านโยบายและเครื่องมือต่าง ๆ เช่น แผนการเพิ่มผลผลิตและการแข่งขันในประเทศ นโยบายด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 และการจัดการขยะ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการดำเนินการด้านการจัดการขยะซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม เปรูได้มีการบังคับใช้กฎหมาย (กฎหมาย หมายเลข 30884) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 โดยกฎหมายดังกล่าวกำกับดูแลการใช้สินค้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) บรรจุภัณฑ์ชนิดใช้แล้วทิ้ง บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ รวมถึง Styrofoam ต่าง ๆ ปัจจุบัน หน่วยงานภาคเอกชนได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยมีการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ทดแทนการใช้วัสดุแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้ ภาครัฐบาลของเปรูมีการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการปเลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (ENCC) เป้าหมายภายในปี 2593 ทั้งนี้ จากรายงานการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของเปรู พบว่า หากเปรูสามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จะส่งผลให้ GDP ของเปรูเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 2 ภายในปี 2573 และร้อยละ 10 ภายในปี 2593 รวมถึงการเพิ่มการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง[1]
บทวิเคราะห์/ความเห็นของ สคต.
การดำเนินโครงการของกระทรวงการผลิตของเปรูเป็นก้าวสำคัญในการร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ ให้ไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ ความสำเร็จของการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของเปรูสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งภาครัฐของเปรูมีความพยายามในการดำเนินการต่าง ๆ ตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดังนั้น แนวโน้มการใช้ทรัพยากรและสินค้าต่าง ๆ ของเปรูจะต้องเน้นความคุ้มค่า การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน เช่น สินค้าบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ หรือสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ รวมถึง วัสดุรีไซเคิลในการผลิตต่าง ๆ เช่น การใช้ MDF รีไซเคิล โคมไฟแก้วรีไซเคิล กระเบื้องรีไซเคิล ในการอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy) ที่ถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติของไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นการทำให้เกิดวงจรหมุนของทรัพยากรให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ให้ความสำคัญกับการทำให้ทรัพยากรกลับไปอยู่ที่เดิม ทำให้เกิดขึ้นใหม่ หรืออาจใช้วัสดุอื่นมาทดแทน แนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงมีความเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ/ของเสีย (waste management) ทั้งนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียนแบ่งวัสดุในระบบออกเป็น 2 แบบ คือ 1) กลุ่มวัสดุชีวภาพ (biological materials) หรือวัสดุที่มาจากสารธรรมชาติ และผ่านกระบวนการที่แทบไม่ปนเปื้อนสารเคมี ทำให้ย่อยสลายคืนสู่สิ่งแวดล้อมต่อไปได้ 2) กลุ่มวัสดุทางเทคนิค (technical materials) ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่อาศัยเทคนิคต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนจากโลหะและพลาสติก ที่จะส่งผลเสียหากหลุดสู่ธรรมชาติ จึงต้องมีการออกแบบใหม่ให้หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในระบบปิดโดยไม่ส่งของเสียออกนอกระบบผลิต[1] ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งสินค้าไปยังเปรู จำเป็นต้องนำนวัตกรรมมาพัฒนาสินค้า เพื่อให้สามารถนำสินค้าเหล่านั้นกลับมาใช้ได้ใหม่หรือเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหากมีการย่อยสลายหรือถูกทำลาย โดยปัจจุบันจากการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) สินค้าในกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าเปรูมีความต้องการจากไทย เช่น สินค้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง สินค้าเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ สินค้าบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นต้น
_________________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
พฤษภาคม 2566
[1] https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/interesting/circular-economy-is-new-chance/
[1] https://www.bancomundial.org/es/programs/lac-green-growth-leading-the-change-we-need/peru
[1] https://aclima.eus/en/la-economia-mundial-solo-es-circular-en-un-72/
[2] https://es.euronews.com/next/2023/01/18/la-economia-circular-una-oportunidad-de-41-billones-de-euros
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)