หน้าแรกTrade insight > การบริโภคในตลาดสินค้าแฟชั่นระดับไฮเอนท์ของจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

การบริโภคในตลาดสินค้าแฟชั่นระดับไฮเอนท์ของจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันโครงสร้างราคาการบริโภคเสื้อผ้าของตลาดจีน เมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างการบริโภคของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และตลาดยุโรปตะวันตกแล้ว การบริโภคในตลาดเครื่องประดับและเสื้อผ้าระดับไฮเอนท์มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ ส่วนเสื้อผ้าในตลาดทั่วไปมีสัดส่วนค่อนข้างสูง โดยตลาดเสื้อผ้าในจีนได้รับผลกระทบจากตลาดค้าส่งแบบออฟไลน์และเสื้อผ้าที่จำหน่ายทางออนไลน์ราคาถูก ส่งผลการบริโภคเสื้อผ้าในตลาดทั่วไปยังคงมีสินค้าที่ไม่มีใบอนุญาต/ไม่มีแบรนด์สินค้า ทำให้ตลาดจีน ยังมีช่องว่างสำหรับการสร้างแบรนด์ แม้ว่าการบริโภคเสื้อผ้าต่อหัวโดยรวมของจีนในจะเป็นเพียง 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 6 ของตลาดที่อิ่มตัวแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป แต่การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคที่มีฐานะทางการเงินสูงในจีนสูงเทียบเท่ากับตลาดที่อิ่มตัวแล้ว อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มคนที่มีรายได้ที่แตกต่างกันก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก  ซึ่งเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างรายได้ของประชากรชนชั้นสูงและผู้มีฐานะร่ำรวยในจีนมีอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุด ประชากรของชนชั้นกลางและชนชั้นกลางเกิดใหม่ มีความเสถียรภาพ ส่วนรายได้ของประชากรชนชั้นล่างของจีนมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลให้กำลังซื้อของคนชนชั้นกลางไปจนถึงระดับล่างของจีนอ่อนกำลังลง และกำลังซื้อโดยทั่วไปมาจากคนชนชั้นสูงขึ้นไปของจีน และเนื่องจากผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อของจีนเป็นกลุ่มหลักของผู้บริโภคในตลาดสินค้าระดับไฮเอนด์ เมื่อกำลังซื้อของผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าการบริโภคสินค้าระดับไฮเอนด์ในจีน ก็จะยังคงเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วของจีน ส่งผลให้คุณภาพการดำรงชีวิตของชาวจีนมีการยกระดับสูงขึ้น ทั้งยังทำให้การบริโภคของชาวจีนมีการเปลี่ยนแปลง โดยหันไปแสวงหาสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากภาพรวมของการบริโภคเสื้อผ้าในตลาดจีน คาดการณ์ได้ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของจีน จะมีแนวโน้มสามประการดังนี้

แนวโน้มที่หนึ่ง: การแสวงหาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคผลักดันการเติบโตของตลาดระดับไฮเอนด์ให้สูงขึ้น

ปัจจุบัน กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสัดส่วนของครัวเรือนของชนชั้นกลางขึ้นไป ในเขตเมืองทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 55 ในปี 2565 ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็เต็มใจที่จะจ่ายแพงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูง ตัวอย่างเช่น สัดส่วนมูลค่าตลาดขายปลีกของผลิตภัณฑ์รองเท้าแฟชั่นระดับกลาง ระดับสูงและระดับไฮเอนด์ในตลาดจีนโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.4 และร้อยละ 8.0 ในปี 2561 เป็น ร้อยละ 10.0 และร้อยละ 11.8 ในปี 2565 ตามลำดับ

แนวโน้มที่สอง: คนรุ่นใหม่ของจีนกลายเป็นผู้นำคลื่นลูกใหม่ของการบริโภค

ในปี 2565 กลุ่มผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นในจีน โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่ม ส่วนใหญ่เป็นประชากรวัยหลังยุค 90 และ ยุคหลังปี 2000 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของการบริโภคสินค้าเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดในจีน โดยพฤติกรรมการบริโภคของคนกลุ่มนี้ มีความทันสมัยและมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทรนด์แฟชั่นเป็นอย่างดี ซึ่งคนรุ่นหลังยุค 90 และ ยุคหลังปี 2000 จะนิยมเครื่องแต่งกายแบบลำลองที่เป็นแฟชั่น อีกทั้งแนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมแฟชั่นของจีน ชี้ให้เห็นว่าการเลือกสไตล์เครื่องแต่งกายของผู้บริโภคกลุ่มนี้ มีอิทธิพลต่อการเลือกบริโภคของผู้บริโภคเจนเนอเรชั่นอื่นๆ มากขึ้น และส่งผลให้มีการขับเคลื่อนการเติบโตโดยรวมของตลาดแฟชั่นของจีน

สัดส่วนการบริโภคสินค้าเครื่องแต่งกายในตลาดจีน โดยแยกตามกลุ่มผู้บริโภค ปี 2565

ที่มา: report.iimedia.cn

เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มการบริโภคในตลาดสินค้าแฟชั่น จะเห็นได้ว่าการคิดค้นนวัตกรรมในการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง การดำเนินการตลาดและการบริการหลังการขายของลูกค้า และการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ได้กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสินค้าแฟชั่น จึงจะรักษาความสามารถการแข่งขันในตลาดจีนได้

แนวโน้มที่ 3: ช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์มีการพัฒนาเร็วขึ้น

ปัจจุบัน ช่องทางการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ในจีนก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่พัฒนาแล้วอย่าง Taobao และ Tmall แล้ว แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Douyin, Kuaishou และ Xiaohongshu ก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นเช่นกัน

เนื่องจากจีนมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทแฟชั่นของจีน จึงได้มีการนำเอาประโยชน์ของการไลฟ์สดมาประยุกต์ใช้กับการจำหน่ายสินค้าในช่องทางออนไลน์มากขึ้น คาดว่าในปี 2566 มูลค่าตลาดแฟชั่นจะเพิ่มสูงขึ้นอีก นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการบริโภคเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะเห็นได้ว่า การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวกับแฟชั่นและการพัฒนาสื่อสังคมดิจิทัล ได้มีส่วนในการผลักดันความต้องการด้านแฟชั่นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2573 ตลาดผู้บริโภคแฟชั่นคุณภาพสูงของจีนจะเติบโตอย่างมั่นคงมากขึ้นต่อไป

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือเครือข่ายออนไลน์ ได้มีบทบาทสำคัญกับการบริโภคแฟชั่นมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคมีความคาดหวังกับการบริการลูกค้า รวมถึงการบริการหลังการขายและคุณภาพของบริการที่สูงขึ้น หลังจากที่จีนได้มีการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด19 อย่างเหมาะสม ปริมาณผู้บริโภคทางออฟไลน์ก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอดค้าปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคในจีนสูงถึง 18.8 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยในจำนวนนี้ อัตราการเติบโตของรองเท้าและเสื้อผ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เนื่องด้วยจีนมีการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้และเข้าถึงแบรนด์ต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งปัจจุบันรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในจีน และกลุ่มผู้บริโภคที่เกิดใหม่ ได้นำไปสู่ความต้องการที่แบ่งย่อยหมวดหมู่ของสินค้าเครื่องแต่งกายมากยิ่งขึ้น และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ตลาดจีนมีความต้องการสินค้าเครื่องแต่งกายสูง

ดังนั้นหากต้องการเจาะตลาดในจีน ควรจะต้องศึกษาและติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมแฟชั่นในจีน รวมถึงเทรนด์แฟชั่นที่มาแรง รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเข้าสู่ตลาดจีนและแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ที่มา :

http://www.chinadaily.com.cn/a/202306/27/WS649a34cca310bf8a75d6bca2.html

https://www.163.com/dy/article/I83L0I0U055616YY.html

report.iimedia.cn

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login