หน้าแรกTrade insight > การนำเข้าสินค้าแทบไม่แตกต่างจากในปี 2019

การนำเข้าสินค้าแทบไม่แตกต่างจากในปี 2019

เนื้อหาสาระข่าว: ผู้ประกอบการค้าปลีกสหรัฐฯ กำลังรับมือกับการนำเข้าสินค้าในระดับที่เหมือนเมื่อปี 2019 เพราะรูปแบบการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ การนำเข้าสินค้าทางทะเลในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีการขยายตัวแทบจะไม่แตกต่างไปจากการขยายตัวในช่วงเดียวกันของปี 2019 ในกรอบร้อยละ 2.5 จากการสรุปผลเดือนกันยายนโดย Descartes Systems Group ที่ออกมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ข้อมูลดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งยังคงแข็งแกร่งอยู่แม้จะต้องเผชิญกับราคาสินค้ารายวัน เชื้อเพลิงและภาระหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้น สำนักวิจัยของ Deloitte ทำนายไว้ว่ายอดขายช่วงเทศกาลวันหยุดปีนี้จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.6 ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดนับจากปี 2018 บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกกำลังพยายามทำให้ระดับอุปทานสมดุลกับระดับอุปสงค์กันอย่างหนัก ในเดือนกันยายน ปริมาณการนำเข้าขยายตัวถึงร้อยละ 8 เทียบกับปี 2019 สวนทางกับสถิติตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมาที่มีแนวโน้มหดตัวมาตลอด ซึ่งข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกกำลังพากันนำเข้าสินค้าตามสัญญาณความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยจะพยายามเลี่ยงไม่ให้เกิดสภาวะสินค้าล้นคลังสินค้าอย่างที่เคยเป็นาในช่วงกลางปี 2022 มาแล้ว ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ๆ หันกลับมาใช้นโยบายการบริหารคลังสินค้าแบบ “ทันเวลาพอดี (just-in-time)” เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้  เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารห้าง Target เพิ่งจะล้างสินค้าที่เคยซื้อเข้ามาจนล้นคลังสินค้าเพราะระดับอุปสงค์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแบบไม่ทันตั้งตัวมาแล้ว แต่ก็ยังแสดงความพร้อมที่จะปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอีกครั้ง ผู้บริหารขอ’ Descartes สรุปปิดท้ายว่า ดูเหมือนว่าผู้บริโภคในทุกวันนี้ จะเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เลย

บทวิเคราะห์: Descartes Systems Group ผู้ให้บริการข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทั่วโลกได้เผยแพร่รายงานประจำเดือนกันยายนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ชี้ว่า การนำเข้าสินค้าบรรจุตู้สินค้าทางทะเลของสหรัฐฯ เทียบกับเดือนสิงหาคมขยายตัวเล็กน้อย (0.3%) ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มการนำเข้าในเดือนกันยายนของทุกๆ ปีที่ผ่านมาตลอด 6 ปี ซึ่งปริมาณจะหดตัวลงในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของทุกปี (จะเห็นว่าเส้นกราฟสีแดงของปี 2023 เป็นปีเดียวที่ขยายตัวเล็กน้อย แต่ในปีอื่นๆ ปริมาณในเดือนกันยายนจะลดต่ำกว่าสิงหาคมตลอดมา)

เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปี 2022 ปริมาณการนำเข้าหดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 แต่หากเทียบกับปริมาณในเดือนกันยายนปี 2019 ปีนี้มีปริมาณสินค้านำเข้าสูงกว่าถึงร้อยละ 8

เมื่อพิจารณาเฉพาะ 10 ประเทศแหล่งสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ พบว่ามีการขยายตัวร้อยละ 1.7 (26,704 TEUs) เทียบกับปริมาณในเดือนสิงหาคม โดยปริมาณสินค้านำเข้าจากจีนมีจำนวนตู้สินค้าขยายตัวสูงสุดที่ 34,850 TEUs หรือร้อยละ 4.2 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าจากอิตาลีหดตัว.ลงมากที่สุดถึง 14,470 TEUs หรือร้อยละ 26.2 สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยก็หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.1 หรือ 862 TEUsสินค้านำเข้าจากจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่องทั้งปริมาณและสัดส่วนเมื่อเทียบกับยอดนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยในเดือนกันยายนมีปริมาณสินค้านำเข้าจากจีนขยายตัวจากเดือนสิงหาคมร้อยละ 4.2 [ปริมาณสินค้านำเข้ารวม 866,762 ตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต (TEUs)] แต่ก็ยังต่ำกว่ายอดสูงสุดในเดือนสิงหาคม สินค้านำเข้าจากจีนยังครองสัดส่วนสูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 39.3 ปริมาณสินค้านำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ขยายตัวจากเดือนสิงหาคมร้อยละ 1.4 แต่ยังคงต่ำกว่าปริมาณในขณะที่ขยายตัวสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022

ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อคลองปานามา ซึ่งเป็นช่องทางเดินเรือที่รวดเร็วและราคาถูกที่มักใช้ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรจากท่าเรือเมืองนิวออร์ลีนไปยังจีน และยังรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สหรัฐฯ เป็นผู้ใช้งานรายใหญ่ที่สุด โดยการขนส่งตู้สินค้าส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ ครองสัดส่วนถึงร้อยละ 73 ของการจราจรของเรือที่ต้องผ่านคลองปานามาทั้งหมด และมีร้อยละ 40 ของจำนวนเที่ยวเรือขนส่งสินค้าสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าถึง 270 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจะต้องใช้เส้นทางนี้ โดยผู้บริหารเส้นทางนี้จะต้องจำกัดน้ำหนักของเรือที่จะสามารถผ่านระดับน้ำที่ลดลงได้ และยังมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม จากรายงานของ Descartes Systems Group ชี้ว่าภัยแล้งดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อปริมาณตู้สินค้าที่มีการขนส่งมาสหรัฐฯ โดยเฉพาะท่าเรือบริเวณอ่างเม็กซิโก นั้นมีปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวสูงสุดในเดือนกันยายน แต่ท่าเรือบริเวณอ่าวและชายฝั่งทะเลตะวันออกเริ่มเห็นได้ว่ามีการใช้เวลาในการขนส่งยาวนานขึ้น ในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกมีแนวโน้มรวดเร็วขึ้น

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: การที่สถิติการนำเข้าในเดือนกันยายนพลิกสูงขึ้นสวนทางกับแนวโน้มใน 6 ปีก่อนนั้น รายงานของ Descartes Systems Group วิเคราะห์สาเหตโดยได้ให้น้ำหนักกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสั่งซื้อไปเป็นแบบ “ทันเวลาพอดี” ของผู้ซื้อค่อนข้างมาก แม้จะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ตาม ทั้งนี้เพราะปริมาณการนำเข้าในช่วงต้นถึงกลางปีไม่ได้สูงเหมือนปีอื่นๆ แต่เส้นกราฟของปี 2023 ค่อนข้างจะราบเรียบเมื่อเทียบกับรูปแบบของเส้นกราฟในปีอื่นๆ ปัจจัยอื่นๆ รอบข้าง อาทิ การจราจรที่คลองปานามาที่ยังเป็นปัญหาจากภัยแล้งอยู่จนการขนส่งทางเรือต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการ หันมาใช้เรือเล็กลงหรืออาจต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อเลี่ยงโอกาสที่จะต้องยืดระยะเวลารอเข้าเทียบท่าออกไปอีก ซึ่งความล่าช้าก็อาจผลักให้ปริมาณการนำเข้าเดือนสิงหาคมยืดออกมาบันทึกในเดือนกันยายนก็เป็นได้ แต่ที่ชัดเจนก็คือปริมาณในเดือนกันยายนไม่ได้ลดลงมากเช่น 6 ปีที่ผ่านมา และถ้าผู้ซื้อมีรูปแบบการสั่งซื้อที่เปลี่ยนแปลงไปในปีนี้จริง เหตุก็ต้องมาจากบทเรียนสำคัญที่เคยได้รับมาในปีก่อนหน้านี้ที่มีการซื้อสินค้าในช่วงกลางปีจำนวนมากจนล้นคลังสินค้า แล้วต้องเจ็บตัวหาทางระบายสินค้ากันในช่วงปลายปีก่อนจนถึงต้นปีนี้มาแล้ว ทำให้ปรับเปลี่ยนมาใช้การสั่งซื้อแบบ “ทันเวลาพอดี (just-in-time)” เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้   และก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคท่ากลางปัจจัยเชิงลบทางเศรษฐกิจหลายประการ

ที่น่าสังเกตคือ หลายๆ แหล่งข่าว รวมถึง Reuters ให้ความสนใจอย่างมากกับยอดการสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods หรือสินค้าที่มีอายุใช้งานเกินกว่า 3 ปี) ในเดือนสิงหาคมที่พลิกกลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 0.2 ทั้งที่มีนักวิเคราะห์มากมายคาดการณ์ว่าจะเป็นลบ (คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.5) หลังยอดในเดือนกรกฎาคมหดตัวลงไปมาก (หดตัวร้อยละ 5.6) เทียบกับเดือนกรกฎาคมแล้วเท่ากับขยายตัวถึงร้อยละ 5.8 และเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมปีก่อนก็ขยายตัวร้อยละ 4.2 สินค้าคงทนนี้รวมถึง เครื่องจักร (+0.5%) เครื่องใช้ ไฟฟ้า (+1.1%) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (+0.3%) สินค้าที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ (+0.5%) แม้โลหะพื้นฐาน อุปกรณ์ขนส่งและอากาศยานภาคเอกชน มียอดการสั่งซื้อลดลง สินค้ายานยนต์และอะไหล่ (+0.3%) ขยายตัวเล็กน้อยแต่มีปัญหาเรื่องแรงงานประท้วง ที่อาจส่งผลลบต่อภาพรวมในเดือนถัดๆ ไปได้หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว สินค้าทุนที่ไม่ใช่เพื่อการทหาร (Non-defense Capital Goods) ไม่รวมอากาศยาน ขยายตัวร้อยละ 0.9 สูงที่สุดนับจากเดือนมกราคม ในขณะที่เดือนก่อนมียอดหดตัวร้อยละ 0.4 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวดังกล่าว สำหรับนักวิเคราะห์แล้ว นั่นคือสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลายๆ สำนัก รวมถึง Goldman Sachs ต่างพากันปรับตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.2 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.0 เพราะแรงขับที่เกิดขึ้นจาก ภาคอุตสาหกรรมเริ่มขยับซื้อของเข้าคลัง ซื้อหาอุปกรณ์มาผลิตสินค้าเพิ่มหันมาดูผู้บริโภคชาวอเมริกัน ตัวเลขดัชนีต่างๆ ยังคงทำให้ภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ค่อยสดใสนัก ดังนี้

 ดัชนี (ปีฐานคือ 1985 = 100)

สิงหาคม กันยายน
ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

108.7

103.0

ดัชนีสถานะปัจจุบัน (Present Situation Index)

146.7

147.1

ดัชนีความคาดหวัง (Expectation Index)

83.3

73.7

 

ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคนี้ ลดลงในผู้บริโภคทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ครัวเรือนตั้งแต่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ดัชนีความคาดหวังนี้ หากลงไปแตะเส้นที่ต่ำกว่า 80 ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าสภาวะเศรษฐกิจเศรษฐกิจถดถอยกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายก็คาดการณ์กันว่าจะเกิดในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 นี้

อ้างอิงถึงข้อมูลจากหลายๆ แหล่งรวมกันโดยสรุปแล้ว ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าสินค้าราคาแพงขึ้นกว่าเดิม (รายงานผลการสำรวจตลาดชี้ว่า ผู้บริโภครู้สึกว่าตนต้องจ่ายค่าสินค้าปลีก และสินค้าของชำแพงขึ้นร้อยละ 29.3 และ 23.2 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสะสมจริงนับจากปี 2019 เท่ากับร้อยละ 27 และ 24.5 ตามลำดับ และด้วยความรู้สึกเช่นนี้ จึงมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ระมัดระวัง และพยายามประหยัดกว่าที่เคย ในกลุ่มสินค้าอาหาร ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่ช่วยประหยัด เป็นเหตุผลที่เหนือกว่าความสะดวก ตัวอย่างเช่น Conagra Brands เจ้าของอาหารแบรนด์ดังหลายแบรนด์ ให้ความเห็นว่า อาหารพร้อมทานที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อที่เคยเป็นสินค้ายอดนิยมสูงสุด กลับมียอดขายชะลอตัวลง แต่พบว่าผู้ซื้อหันไปซื้อสินค้าที่ต้องปรุงเองมากขึ้น โดยสันนิษฐานว่าผู้บริโภคเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยประหยัดได้ยิ่งขึ้น และ Nestle แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ยืนยันว่า ผู้บริโภคใช้จ่ายเพื่ออาหารน้อยลง แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่า บริโภคจริงน้อยลง ทิ้งน้อยลง หรือไปทานอาหารนอกบ้านมากขึ้นหรือไม่ ส่วนสินค้าปลีกนั้น Amazon แถลงว่าผู้ซื้อบนแพลตฟอร์มของ Amazon ในช่วงวัน Prime Big Deals Days มีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าโดยใช้ราคาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจมากขึ้น ค้าปลีกออนไลน์สัญชาติจีนที่เข้ามาบุกตลาดสหรัฐฯ ก็ใช้กลยุทธดึงดูดลูกค้าด้วยสินค้ายอดนิยมหรือสินค้าแปลกๆ ใหม่ๆ ในราคาที่ถูกแบบเหลือเชื่อ แต่สำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับประสบการณ์บันเทิงพิเศษๆ โดยเฉพาะประเภทที่เรียกว่า “ประสบการณ์ครั้งเดียวในชีวิต”รวมถึง การท่องเที่ยว คอนเสิร์ต ฯลฯ ตัวอย่างเช่น Delta Airlines ทำรายได้สูงขึ้น และ Ticketmaster รายงานยอดขายเพิ่มสูงขึ้นเกือบร้อยละ 18 หรืออาจจะพูดได้ว่า ผู้บริโภคอเมริกันในระยะนี้มีแนวโน้มประหยัดการใช้จ่ายประจำวันเท่าที่จะทำได้ แต่ยังใช้จ่ายไปกับสินค้าและบริการที่ให้ประสบการณ์พิเศษและความสุขแม้จะเห็นว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยก็ตาม

*********************************************************

ที่มา: Reuters
เรื่อง: “As US holiday shopping season nears, retailers importing like it is 2019”
โดย: Lisa Baertlein และ Priyamvada C
สคต. ไมอามี /วันที่ 12 ตุลาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login