ปัจจุบันการทำฟาร์มปศุสัตว์แบบดั้งเดิมในสหรัฐอเมริกาได้มีการเปลี่ยนรูปแบบไปทำฟาร์มแบบอุตสาหกรรม (Factory Farm) มากขึ้น ซึ่งหมายถึงการทำฟาร์มขนาดใหญ่โดยการใช้นวัตกรรม การตัดแต่งพันธุกรรม การใช้เคมีภัณฑ์และยา เพื่อให้สามารถเลี้ยงสัตว์ได้กว่าหมื่นล้านตัวต่อปีสำหรับนำไปผลิตเป็นอาหารแก่ผู้บริโภคต่อไป
อย่างไรก็ดี การทำปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมได้สร้างมลพิษทางน้ำและอากาศ ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงตกต่ำลง และยังได้เปลี่ยนสภาพภูมิทัศน์จากพื้นที่ทุ่งหญ้าแพรรีที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศเป็นพื้นที่เพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์หลายพันล้านตัว อาทิ ถั่วเหลือง และข้าวโพด นอกจากนี้ ฟาร์มอุตสาหกรรมยังได้เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคระบาดจากสัตว์สู่คน รวมทั้งเป็นการสร้างความทรมานแก่สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารและยังมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพืชอีกด้วย
การทำฟาร์มอุตสาหกรรมเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารของสหรัฐฯ ได้เติบโตอย่างมากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัจจุบันปศุสัตว์อุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ได้พัฒนาจากในยุคก่อนอย่างมาก สำหรับโรงงานขนาดใหญ่เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมาสามารถเลี้ยงไก่ได้ 100,000 ตัวต่อปี ปัจจุบันโรงงานขนาดใหญ่สามารถเลี้ยงไก่ได้มากกว่า 500,000 ตัวต่อปี และ 3 ใน 4 ของจำนวนไก่ทั้งหมดมาจากปศุสัตว์อุตสาหกรรม และการทำปศุสัตว์อุตสาหกรรมนี้นำไปใช้กับการเลี้ยงวัวและหมูเพื่อเป็นอาหารอีกด้วย
การสำรวจสำมะโนการเกษตรของกระทรวงเกษตรสหรัฐ ที่จะรายงานสถานการณ์การทำการเกษตรและปศุสัตว์ของสหรัฐฯ ทุกๆ 5 ปี ได้แสดงให้เห็นแนวโน้มของการเลี้ยงสัตว์ในลักษณะโรงงานมากขึ้น มีพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์น้อยลง การขยายกิจการของฟาร์มอุตสาหกรรมจึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่มีฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลางมีทรัพยากรไม่เพียงพอในการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนมาทำการเลี้ยงสัตว์แบบใหม่ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กและขนาดกลางต้องออกจากตลาด
จำนวนสัตว์สำหรับป้อนเข้าอุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2 เท่าจาก 40 ปีที่ผ่านมา
ในปี 2566 มีจำนวนสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารสหรัฐฯ มากกว่า 1 หมื่นล้านตัว อาทิ ไก่ วัว หมู และไก่งวง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีจำนวนปศุสัตว์มากกว่า 1 หมื่นล้านตัว จาก 5,200 ล้านตัวในปี 2530 โดยตัวเลขส่วนใหญ่มาจากการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้นของชาวอเมริกัน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาชาวอเมริกันมีการบริโภคเนื้อวัวน้อยลง แต่มีการบริโภคไก่เพิ่มขึ้นอย่างมาก อันเนื่องมาจากผู้บริโภคเชื่อว่าไก่เป็นอาหารเพื่อรักษาสุขภาพมากกว่าเนื้อวัวหรือเนื้อแดง อย่างไรก็ดี หากพิจารณาด้านผลกระทบด้านจริยธรรมจะพบว่าไก่ถูกฆ่ามากขึ้น เนื่องจากไก่มีขนาดตัวที่เล็กกว่า โดยจะต้องฆ่าไก่ประมาณ 100 ตัวเพื่อให้ได้ปริมาณเนื้อเท่ากับการฆ่าวัว 1 ตัว
ในช่วงปี 2533 เป็นครั้งแรกที่ชาวอเมริกันบริโภคเนื้อไก่มากกว่าเนื้อวัว และการทำฟาร์มปศุสัตว์มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนการเลี้ยงไก่กว่าร้อยละ 90 ของการปศุสัตว์ทั้งหมดในสหรัฐฯ โดยในปี 2566 มีการเชือดไก่มากกว่า 9,200 ล้านตัว โดยเฉลี่ยแล้วได้มีการเชือดไก่ 27 ตัวต่อชาวอเมริกัน 1 คนต่อปี นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้เลี้ยงไก่เพื่อเป็นอาหารจำนวนมากจนนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าซากไก่จะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญในประวัติศาสตร์ว่า “เราอยู๋ในยุคของไก่” ดังที่ New York Times เคยระบุไว้ในปี 2561
การเพิ่มขึ้นของปศุสัตว์อุตสาหกรรม
ในทุกๆ ปีที่ผ่านมามีการทำฟาร์มอุตสาหกรรมมากขึ้น ในอุตสาหกรรมเนื้อไก่มีการทำฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Mega Factory Farm) ซึ่งหมายถึงฟาร์มที่สามารถเลี้ยงไก่ได้มากกว่า 500,000 ตัวต่อปี โดยในปี 2565 ฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งมีการเลี้ยงไก่เนื้อในสหรัฐฯ ถึง 7,200 ล้านตัวต่อปี
สำหรับอุตสาหกรรมไข่ไก่ในสหรัฐฯ มีแม่ไก่มากกว่า 388.5 ล้านตัวต่อปี โดยฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อาจมีไก่ไข่มากกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากๆ ส่งผลให้เกิดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยได้สร้างผลกระทบเรื่องของกลิ่นและมลพิษทางอากาศที่อาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจแก่คนในชุมชนในพื้นที่ใกล้ฟาร์ม และเมื่อเกิดวิกฤตไข้หวัดนก หากมีไก่ 1 ตัวติดเชื้อก็อาจทำให้ไก่กว่าแสนตัวติดเชื้อไข้หวัดนกอย่างรวดเร็วไปด้วย นอกจากนี้ ยังอาจเกิดความเสี่ยงของโรคระบาดที่เชื้อไวรัสอาจกลายพันธุ์หรือทำให้เกิดเชื้อไวรัสที่ทำให้ติดจากสัตว์สู่คนอีกด้วย
ในเรื่องของการควบคุมโรคระบาด หากพบว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นในฟาร์มใดฟาร์มหนึ่ง กระทรวงเกษตรสหรัฐจะให้ฆ่าสัตว์ทุกตัวที่อยู่ในโรงงานเดียวกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารและการเพิ่มขึ้นของราคาไข่ไก่ เช่น ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2565 ได้มีกรณีไข้หวัดนกเกิดขึ้นใน 5 โรงงานใหญ่ใน 3 รัฐ ได้แก่ รัฐไอโอวา
รัฐวิสคอนซิล และรัฐเนบราสกา ทำให้แม่ไก่ไข่ในอุตสาหกรรมลดลงไปร้อยละ 4 และเป็นเรื่องยากที่จะคัดแยกสัตว์จำนวนมากในโรงงานฟาร์มขนาดใหญ่ ทำให้โรงงานใช้วิธีฆ่าสัตว์ทั้งหมดที่อยู่ในโรงงานที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น โดยการปิดระบบระบายอากาศ และใช้เครื่องทำความร้อนอุตสาหกรรมเพื่อให้ไก่เกิดภาวะลมแดด (Heatstroke) และเสียชีวิตไป
แม้ว่าประชากรโคนมจะไม่ได้มีการเพิ่มขึ้น แต่จำนวนวัวที่กระจุกอยู่ในฟาร์มโรงงานขนาดใหญ่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 30 ปีที่ผ่านมา โดยที่ฟาร์มขนาดเล็กได้ปิดตัวลง ในฤดูใบไม้ผลิปี 2566 ได้เกิดระเบิดในฟาร์มอุตสาหกรรมเลี้ยงโคนมในรัฐเท็กซัสที่มีโคนมถึง 18,000 ตัว ทำให้เห็นความอันตรายของอุตสาหกรรมฟาร์มขนาดใหญ่ (Mega Diary) โดยมีสาเหตุการระเบิดมาจากการทำงานที่ผิดพลาดของอุปกรณ์จัดการมูลสัตว์ ทำให้วัวหลายพันตัวลุกเป็นไฟทันที และกลายเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่
Ms. Amanda Starbuck ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Food & Water Watch ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในพื้นที่ตะวันตกของสหรัฐฯ จากข้อมูลสำมะโนการเกษตรพบว่า ฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ (Mega Diary) ในรัฐโอเรกอนเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2545 ถึงแม้ว่ารัฐโอเรกอนจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในเรื่องของการผลิตนม แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีฟาร์มโคนมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มจะเป็นรัฐที่มีฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ดี คนในท้องถิ่นไม่พอใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ เนื่องจากของเสียจากการทำฟาร์มโคนมได้ทำให้แหล่งน้ำในชุมชนปนเปื้อน
ในปี 2565 หมูมากกว่าร้อยละ 90 ถูกเลี้ยงจากฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยรัฐไอโอวาเป็นรัฐที่ผลิตเนื้อหมูอันดับต้นๆ ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี มีฟาร์มหมูน้อยลง 30,000 แห่งเมื่อเทียบกับ 40 ปีที่แล้ว จากการควบรวมกิจการเพื่อเป็นฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายเล็กก็ต้องออกจากตลาดไป ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ
ฟาร์มเลี้ยงหมูสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีการทำสัญญากับบริษัทแปรรูปเนื้อหมูขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2558 เช่น บริษัท Smithfield Foods และบริษัท JBS ซึ่งสัญญาดังกล่าวทำให้ผู้เลี้ยงหมูต้องรับความเสี่ยงในการกู้เงินจำนวนมากเพื่อมาสร้างโรงเรือนและพัฒนาระบบปฏิบัติการ โดยบริษัทแปรรูปเนื้อหมูดังกล่าวจะส่งหมูและอาหารสัตว์ให้แก่ฟาร์มเลี้ยงหมู ซึ่ง 2 ใน 3 ของจำนวนหมูทั้งหมดได้ถูกเลี้ยงเพื่อส่งหมูให้บริษัทตามสัญญาดังกล่าว
ข้อมูลขององค์กรไม่แสวงหากำไร Food & Water Watch พบว่าจำนวนปศุสัตว์เพื่อเป็นอาหารมีการเติบโตอย่างมาก ทำให้ปริมาณของเสียจากการทำปศุสัตว์เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1 ล้านล้านปอนด์ต่อปี Ms. Starbuck กล่าวว่าในช่วงปี 2561-2565 ของเสียจากปศุสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมากหรือมีปริมาณเท่ากับพื้นที่ของนครนิวยอร์กถึง 2 เท่า หรือเท่ากับของเสียที่เกิดจากมนุษย์ถึง 40 ล้านคน
ของเสียจากการทำปศุสัตว์จะมีการจัดการที่แตกต่างของเสียจากมนุษย์ โดยจะถูกจัดเก็บไว้ในฟาร์มหรือหลุมขนาดใหญ่และอาจมาทำเป็นปุ๋ยคอก ซึ่งการจัดเก็บดังกล่าวมีโอกาสที่จะรั่วไหลได้ นอกจากนี้ เกษตรกรบางส่วนได้มีการใช้ปุ๋ยคอกในการเพาะปลูกในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เมื่อเกิดพายุปุ๋ยคอกส่วนใหญ่จะถูกชะล้างลงไปในแม่น้ำและทำให้เกิดมลพิษในวงกว้าง
มากกว่าครึ่งหนึ่งของแม่น้ำในรัฐไอโอว่าถูกปนเปื้อนด้วยของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์และไม่สามารถนำไปใช้ได้ ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ การผลิตน้ำดื่ม และแม้แต่การใช้สถานที่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น เนื่องจากน้ำในแหล่งน้ำถูกปนเปื้อน นับเป็นปัญหาระดับชาติและส่งผลกระทบคนในชุมชนจำนวนมากที่ต้องใช้แหล่งน้ำในพื้นที่ จากรายงานของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (US Environmental Protection Agency) พบว่า 1 ใน 3 ของแม่น้ำในสหรัฐฯ มีคุณภาพที่ไม่เหมาะสำหรับสัตว์น้ำ โดยสาเหตุหลักมาจากการปนเปื้อนของเสียจากฟาร์มอุตสาหกรรม
พื้นที่เพาะปลูกในแถบตะวันตกส่วนกลางของสหรัฐฯ (Midwest) ได้เปลี่ยนเป็นฟาร์มเพาะปลูกอาหารสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง เช่นเดียวกับของเสียจากการปศุสัตว์ ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ฉีดพ่นกับผลผลิตได้ชะล้างจากพายุและปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากจากเมื่อ 20 ปีก่อน ไม่เพียงแต่มีสาเหตุมาจากการปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรม แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้มีการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นเมื่อสภาคองเกรสมีคำสั่งให้เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอลที่ทำมาจากข้าวโพด สามารถนำมาผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวยิ่งทำให้มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างไม่มีประสิทธิภาพ นาย Michael Grunwald นักเขียนด้านเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมของนิตยสาร New York Times กล่าวว่าการผลิตพลังงานโดยเชื้อเพลิงชีวภาพจะต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกถึง 100 เอเคอร์ซึ่งเท่ากับการผลิตพลังงานด้วยแสงอาทิตย์ที่ใช้พื้นที่เพียง 1 เอเคอร์เท่านั้น อย่างไรก็ดี นโยบายสนับสนุนการผลิตเอทานอลเป็นการดึงคะแนนเสียงจากเกษตรกรและเพื่อสนับสนุนธุรกิจการเกษตร
ผลผลิตข้าวโพดได้นำไปใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพร้อยละ 40 เพื่อเป็นอาหารสัตว์ร้อยละ 40 ในขณะที่ผลผลิตของถั่วเหลืองได้นำไปใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ร้อยละ 70
พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง
อย่างไรก็ดี การทำฟาร์มอุตสาหกรรมได้ทำให้การปศุสัตว์และการเพาะปลูกอาหารสัตว์มีประสิทธิภาพมากขึ้น นักวิจัยและบริษัทต่างพยายามหาวิธีในการเพิ่มผลิตผลผลิตทางการเกษตรให้มีปริมาณมากขึ้นจากการใช้พื้นที่ที่น้อยลง ส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกของสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 24 แต่มีผลผลิตมากขึ้น เมื่อเทียบกับ 70 ปีที่ผ่านมา
การทำปศุสัตว์อุตสาหกรรมยังอาจมีต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้รวมอยู่ในราคาสินค้าด้วย เช่น การทารุณกรรมสัตว์ มลพิษจากของเสีย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อรวมต้นทุนดังกล่าวแล้วระบบเลี้ยงสัตว์ในจำนวนที่ไม่แออัดหรืออุตสาหกรรมอาหารที่มาจากพืช (Plant-based Diet) กลับมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำฟาร์มอุตสาหกรรม จากการสร้างของเสียจากการผลิตและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า รวมทั้งยังเป็นการรักษาระบบนิเวศของสัตว์ป่าเพื่อประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งถ้าหาทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการปศุสัตว์ได้ก็จะไม่ต้องฆ่าสัตว์กว่า 1,000 ตัวต่อปี
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
ฟาร์มอุตสาหกรรมได้ทำให้การเพาะปลูกและการปศุสัตว์มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องทารุณกรรมสัตว์ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งมลพิษทางน้ำและทางอากาศได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ ความปลอดภัยของแหล่งน้ำในชุมชนเพื่อการอุปโภคและบริโภค เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อพิจารณาข้อดีและข้อเสียของการทำฟาร์มอุตสาหกรรมแล้วก็พบว่าชาวอเมริกันน่าจะลดการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาบริโภคอาหารทางเลือก เช่น Plant-based Diet มากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยในการนำสินค้ามังสวิรัติ สินค้าออร์แกนิค หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาในตลาดสหรัฐฯ พร้อมกับควรพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมั่นใจได้ว่าสินค้าได้ผลิตด้วยวิธีการที่ปลอดภัยและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลอ้างอิง: Vox
อ่านข่าวฉบับเต็ม : การทำฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ