หน่วยงานด้านการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (the Gem & Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ของอินเดีย แถลงข่าวว่าการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับในอินเดียครั้งที่ 39 (The 39th edition of India International Jewellery Show (IIJS) Premiere 2023 ที่จัดเมื่อวันที่ 3 – 7 สิงหาคมที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ถึงประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงสินค้า 1,850 ราย จากทั่วโลก และผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 5 หมื่นคน โดยในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 2,100 คน จาก 65 ประเทศ ซึ่งในปีนี้ได้ใช้พื้นที่จัดงานพร้อมกัน 2 แห่งในเมืองมุมไบ ได้แก่ Jio World Convention Centre และ Bombay Exhibition Centre
สำหรับแนวโน้มตลาดเครื่องประดับในอินเดียยังคงต้องการเพชรแท้แบบดั้งเดิมและมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นในปีนี้ ในขณะเดียวกัน มีการนำเข้าเพชรแท้แบบ Lab-grown diamond (LGD) มาใช้ในการผลิตมากขึ้น โดยจะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องประดับร่วมกับพลอยและหินสีที่จะตอบสนองตลาดของคนรุ่นใหม่ในอินเดียและการส่งออกไปยังยุโรปที่มีค่านิยมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่มีการส่งออกจากอินเดียไปเพิ่มขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น
สินค้าหนึ่งที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันตลาดอินเดียที่ค่อนข้างยั่งยืนคือเครื่องประดับเงิน จากการที่ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะการกลับมาจัดงานแต่งงานในช่วงต้นปีของทุกปี ซึ่งคู่แข่งของไทยในตลาดอินเดีย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี ฮ่องกง UAE และ ตุรกี โดยไทยครองตลาดในสัดส่วนประมาณ 70% ต่อเนื่องมาหลายปี ทั้งนี้ คู่แข่งที่น่าจับตา ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง โดยเฉพาะ UAE และ ออสเตรเลีย ที่อินเดียนำเข้าเพิ่มขึ้นภายหลังการลงนาม FTA กับอินเดียในปี 2565 ที่ผ่านมา
ผู้ส่งออกไทยอาจนำไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องของการใช้อัญมณี/พลอยสี รวมถึงไข่มุก และเพชรสังเคราะห์ (Lab-grown Diamond) เข้าไปผสมผสานด้วย เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในวัยทำงานและผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง รวมถึงนำเงินไปใช้ส่วนหนึ่งในการผลิตสินค้าแฟชั่นอื่นๆ อาทิ เข็มกลัด เข็มขัด (accessories) รวมถึง ผ้าพันคอ และ กระเป๋าถือสำหรับออกงาน เป็นต้น ซึ่งอินเดียยังไม่มีความชำนาญในการถักดิ้นเงินเข้าไปในสิ่งทอ (woven silver textile) ทั้งนี้ เมืองที่มีการเปิดรับกับเครื่องประดับเงินมากกว่าเมืองอื่น คือ กัลกัตต้า เชนไน และไฮเดอราบัด ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของอินเดีย
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)