รัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีเป็นศูนย์กลางที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับระดับสากล เพราะมีข้อได้เปรียบด้านภาษี โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและโลจิสติกส์ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และราคา การเข้าถึงได้ง่ายและการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเสาหลักให้แก่กิจการที่ประสบความสำเร็จในทุกภาคอุตสาหกรรม
หน่วยงาน DMCC หรือ Dubai Multi Commodities Centre ที่ดูแลทางด้านการค้า วิสาหกิจ และสินค้าโภคภัณฑ์ของรัฐบาลดูไบ เปิดเผยมูลค่าการค้าเพชรดิบ (rough diamonds) และเพชรเจียรไน (polished diamonds) ของดูไบในปี 2566 แตะ 38.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯหรือขยายตัวร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นต่อปี (CAGR) เฉลี่ยในช่วง 5 ปี ที่ร้อยละ 11.0
การค้าเพชร
ในปี 2566 มูลค่าการค้า เพชรดิบของยูเออีมูลค่ารวม 21.3 พันล้านเหรียสหรัฐฯ แม้ว่าในปีที่ผ่านมาราคาเพชรดิบทั่วโลกจะลดลงประมาณร้อยละ 20 แต่การค้าเพชรดิบของยูเออีก็ลดลงเพียงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นาย Ahmed Bin Sulayem ตำแหน่ง CEO ของ DMCC กล่าวว่า ในปีที่แล้วมูลค่าการค้าเพชรดิบและเพชรเจียรไนรวม 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่เพชรเจียระไนมีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าเพชรทั้งสิ้น นั่นเป็น ข้อพิสูจน์ว่าดูไบไม่ได้วางตัวเป็นแค่พ่อค้าคนกลางเฉยๆ แต่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้ตลาดมีมูลค่าเพิ่มและน่าดึงดูด โดยในแง่ของสถานที่ Dubai Diamond Exchange (DDE) ถือเป็นห้องค้าเพชร ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่สุดในโลก รองรับผู้สนใจมาประมูลซื้อขายไม่ต่ำกว่า 200 ราย ส่วนในด้านคุณภาพสินค้า ก็ได้มีการลงทุนติดตั้งเตาอุปกรณ์แบบพิเศษ เพื่อทำความสะอาดแร่เพชร ให้มีความบริสุทธิ์มากที่สุดตามความต้องการของผู้ซื้อ
เพชรสังเคราะห์
ดูไบยังได้สนับสนุนการค้า Lab Grown Diamond (LGDs) หรือเพชรสังเคราะห์ที่เกิดจากคาร์บอนด์บริสุทธิ์ โดยจะมีการจำลองขั้นตอนกระบวนการเกิดเพชรตามธรรมชาติขึ้นภายในห้องทดลองโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยยูเออีมีมูลค่าการซื้อขายในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Millennials และ Gen Z มีค่านิยมที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มคนรุ่นก่อน ทั้งด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน รวมถึงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ผลสำรวจจากหลายแหล่งทั่วโลกจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มนิยมหันมาเลือกซื้อและสวมใส่เครื่องประดับ ที่ทำจาก “เพชรสังเคราะห์” ที่ผลิตในห้องปฎิบัติการกันมากขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยูเออีได้กลายเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตการค้าและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพชรของโลก นาย Ahmed Bin Sulayem ซึ่งเป็นตัวแทนของยูเออี เข้ารับหน้าที่เป็นประธานของ Kimberley Process ประจำปี พ.ศ. 2567 เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่ “ปีแห่งการส่งมอบ” เพื่อให้แน่ใจว่า Kimberley Process ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ นี่เป็นครั้งที่สองหลังจากที่เคยดํารงตําแหน่งประธานในปี พ.ศ. 2559
ในปี พ.ศ. 2543 เพื่อเป็นมาตรการในการขจัดและป้องกันการค้าเพชรที่มีแหล่งกําเนิดในพื้นที่ที่อยู่ในการยึดครองของฝ่ายกบฎต่อต้านรัฐบาลที่่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้มีการจัดการประชุมนานาชาติเพื่อกําหนดแนวทางในการออกใบรับรองระหวางประเทศสําหรับเพชร มาตรการเหล่านี้เรียกว่า Kimberley Process หรือกระบวนการคิมเบอร์ลี่ ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มอุตสาหกรรมเพชรทั่วโลกทั้งหมด 52 ประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางและจัดตั้งระบบการออกใบรับรองสำหรับเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ซึ่งจะช่วยขจัดและป้องกันมิให้มีการนำเอารายได้จากการค้าเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน ที่มีแหล่งกำเนิดในพื้นที่ ที่อยู่ในการยึดครองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ถูกต้อง มาใช้ประโยชน์ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงเพื่อการสงคราม รวมทั้งเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมผู้ค้าเพชรโดยถูกต้องมิให้ได้รับผลกระทบจากมาตรการอื่นๆ ที่อาจถูกนำมาใช้ในอนาคต
การค้าอัญมณี
กลุ่มทองคำ เพชร อัญมณีมีค่า เป็นสินค้าที่ยูเออีนำเข้ามูลค่าสูงสุด จากสถิติล่าสุดของ UNCOMTRADE มีมูลค่า 91,573 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.5 ของการนำเข้าสินค้าทั้งสิ้น อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.0 โดยนำเข้ามากจาก 10 ประเทศแรก ได้แก่ อินเดีย รัสเซีย ตุรเคีย มาลี กาน่า แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ซิมบับเว และบอตสวานา
การส่งออกของไทย
ประเภทสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีที่ไทยส่งออกไปยูเออี คือ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง เพชร พลอย เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน อัญมณีสังเคราะห์ เครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ โลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ไข่มุก และทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ปี 2566 มูลค่า 265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.7 และในปี 2567 (ม.ค.) มูลค่า 15.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
—————————————–
อ่านข่าวฉบับเต็ม : การค้าเพชรของดูไบแตะ 38.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566