หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > การค้าเคนยากับประเทศในแอฟริกาได้ดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

การค้าเคนยากับประเทศในแอฟริกาได้ดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ธนาคารกลางเคนยา (CBK) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 หรือ ม.ค.-มี.ค. 2566 เคนยาได้เปรียบดุลการค้ากับการค้ากับประเทศต่างๆในทวีปแอฟริกา มูลค่าแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าในตลาดดังกล่าวที่เติบโตเร็วที่สุดใสรอบ 12 ปี และประกอบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆในแอฟริกาของเคนยาได้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 712.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับมูลค่าการนำเข้าที่มีเพียง 445 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เคนยามีรายได้จากการส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ +23.33 นับเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ -6.02 เมื่อเทียบกับปี 2565 ส่งผลให้เกินดุลการค้าสินค้าถึง 267.77 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากข้อมูลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างการนำเข้าและส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการค้าสินค้ากับประเทศยูกันดาเพิ่มขึ้น ในขณะที่การค้าระหว่างเคนยากับแทนซาเนียนั้นลดลง โดยความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ยังแสดงมุมมองว่า การส่งออกเติบโตเร็วกว่าการนำเข้ามาก ช่วยคงอัตราการจ้างงานสำหรับคนท้องถิ่นและลดแรงกระทบต่อค่าเงินเคนยาชิลลิ่ง และรัฐบาลเคนยาเองก็มีการผลักดันให้เกิดการบูรณาการทางการค้าในทวีปแอฟริกามากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่ประธานาธิบดี วิลเลี่ยม รูโต ของเคนยา รับบทเป็นผู้นำในการสนับสนุนการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศในแอฟริกาเพื่อให้การค้าในกลุ่มการค้าเดียวกันมีความ

สะดวกมากขึ้น อีกทั้งเป็นการรวมตัวกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันของประเทศต่างๆในแอฟริกา คือ การสร้างตลาดเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรประมาณ 1.4 พันล้านคน โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีภาคพื้นทวีปแอฟริกา (AfCFTA)

ประธานาธิบดี วิลเลี่ยม รูโต ได้ดำเนินนโยบายทางการค้าตามรอยของ อดีตประธานาธิบดี อูฮูรู เคนยัตตา ที่เป็นประเทศผู้นำในการให้สัตยาบันเรื่องเขตการค้าเสรีต่อ Comesa-East African Community – Southern Africa Development Community เมื่อบรรลุข้อตกลงไตรภาคีที่จะสร้างการค้าระหว่าง 27 ประเทศ่ ในทวีปแล้ว เคนยายังวางแผนที่จะเป็นผู้นำในการผลักดันให้มีการรวมกลุ่มทางการค้ากับกลุ่มภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจของแอฟริกาตะวันตก และ แอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ (The Maghreb) ซึ่งครอบคลุมประเทศแอลจีเรีย ลิเบีย มอริเตเนีย โมรอคโค และตูนีเซีย แต่ไม่รวมอียิปต์ อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายได้มองว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่อ่อนแออย่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อัตราภาษีที่สูงและคาดการณ์ไม่ได้ รวมทั้งระบบราชการในหลายๆ ประเทศในแอฟริกา ต่างเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการตระหนักถึงการขยายตัวของการค้าอย่างเสรีในทวีปนี้

มูลค่าทางการค้าในทวีปแอฟริกาคิดเป็นมูลค่า 1.16 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคิดเป็นร้อยละ +19.41 ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศฌคนยาในไตรมาสแรกของปีนี้ เติบโตขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ +18.27 ในปีก่อนหน้า และแน่นอนว่า ประเทศยูกันดายังคงเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเคนยา เมื่อคิดเป็นสัดส่วนได้เกือบ 1 ใน 3ของการส่งออกของเคนยาไปยังประเทศต่างๆ ในแอฟริกา สินค้าที่เคนยาส่งออกไปยังประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลส่วนใหญ่ คือ น้ำมันพืช เชื้อเพลิง ยารักษาโรค เหล็ก และเหล็กกล้า ตลอดจนกระดาษ และกระดาษแข็ง ส่วนสินค้าที่เคนยานำเข้าจากยูกันดา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ น้ำตาล และไม้ มีมูลค่ารวม 76.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ +34.20 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนการค้าระหว่างเคนยากับแทนซาเนียนั้น เคนยาส่งสินค้าไปขายยังแทนซาเนีย มูลค่า 110.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าในปีก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าประเภทธัญพืช ผัก และผลไม้จากแทนซาเนียเป็นหลัก และส่งออกผลิตภัณฑ์ยา พลาสติก เหล็ก และเหล็กกล้าไปยังรัฐใกล้เคียง และแน่นอนว่าแอฟริกาใต้ ยังคงเป็นตลาดที่มีการส่งออกลำดับต้นๆ ของเคนยาอยู่เสมอ โดยเคนยานำเข้าสินค้าจำพวกยานพาหนะ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ แร่ธาตุ เชื้อเพลิง เหล็ก และเครื่องจักร มูลค่ารวม 119.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดที่มีความสำคัญรองจากแอฟริกาใต้ลงมา คือ อียิปต์ ซึ่งส่งสินค้าประเภทน้ำตาล และพลาสติก มีมูลค่าตลาด 83.42 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน

อนึ่ง ระบบการขนส่งสินค้าที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ของแอฟริกามักถูกตำหนิว่า ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ ๔๐ ทำให้การค้าภายในแอฟริกาไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่เมื่อเทียบกับภูมิภาคที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรป ตัวอย่างเช่น การส่งออกชาจากเคนยาไปยังประเทศกานา เป็นครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ปรากฎว่า สินค้าเดินทางถึงท่าเรือ Tema ที่กานาในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ หรือ ใช้เวลาถึงกว่า 6 เดือนในการส่งสินค้าดังกล่าว ทำให้เห็นได้ชัดว่าอุปสรรคด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย และภาษีคือสิ่งที่ขัดขวางการค้าภายในแอฟริกาที่มีความสำคัญยิ่งยวดที่ประเทศในแอฟริกาจะต้องร่วมมือในการพัฒนาและแก้ไขต่อไปในอนาคต

ความเห็นของ สคต.

การที่ประเทศต่างๆในแอฟริกา ต่างพยายามหันมาค้าขายกันมากขึ้นนั้น ทางหนึ่งก็จะเป็นการยกระดับรายได้ของธุรกิจในทวีปแอฟริกาให้มีตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกของสินค้ามากขึ้น และมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย แต่ในทางหนึ่งก็เป็นการที่จะทำให้สินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศต่างๆ นอกแอฟริกามีคู่แข่งและมีแข่งขันในตลาดมากขึ้นตามไปด้วย แม้ในปัจจุบัน ยังไม่มีการค้าระหว่างกันมากนัก แต่ในอนาคตที่ โครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงระเบียบด้านการค้าต่างๆในแอฟริกามีความเจริญและโปร่งใสมากขึ้น ก็จะทำให้การค้าระหว่างกันของประเทศต่างๆในทวีปนี้ มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

สำหรับประเทศไทยนั้น ภายใน 5-10 ปีต่อจากนี้ มีเรื่องที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยควรต้องหาทางส่งออกมายังตลาดแอฟริกามากขึ้น ซึ่ง สคต. ขอให้ความเห็นดังนี้

  1. กระทรวงพาณิชย์ จะพยายามเร่งการเจรจาการค้ากับประเทศในแอฟริกา ซึ่งมีแผนจะเริ่มหารือกับประเทศเคนยาในปี 2567 ผ่านการประชุม JTC ครั้งที่ 1 การประชุม JTC ไทย-อียิปต์ ที่ไทยมีแผนจะเจรจาในปี 2567 รอการตอบรับจากอียิปต์ และการเจรจากับประเทศแอฟริกาใต้ในปี 2567 หลังจากมีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งของไทย ซึง สคต.หวังว่า การเจรจาน่าจะมีผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2570 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อเสนอและความจริงจังของคู่เจรจาทั้งสามประเทศดังกล่าวด้วย
  2. การค้าในแอฟริกาจะเปลี่ยนไปอย่างมากในอนาคตที่ระบบขนส่งทางรางที่จีนเข้ามาลงทุนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาในเคนยา แทนซาเนียและยูกานดา ซึ่ง สคต. มองว่า ระบบรางที่ว่านี้จะแล้วเสร็จในปี 2572 ซึ่งจะ

ช่วยลดลต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้ได้ถึงร้อยละ 40 สคต.มองว่า ผู้ส่งออกที่มีความสนใจควรรีบทำการส่งออกหรือศึกษาข้อมูลต่างมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำตลาดได้ก่อนระยะเวลาดังกล่าว เพราะหากระบบรางแล้วเสร็จ ทั้งการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้จะยิ่งขยายตัวมากขึ้น การส่งออกของประเทศอื่นๆมายังแอฟริกาจะสะดวกมากขึ้น การเข้าตลาดของผู้ส่งออกไทยก็จะยิ่งยากขึ้นตามไปด้วย

  1. ผู้ประกอบการไทยควรหาข้อมูลทั้งในด้านการตลาดและการลงทุนในแอฟริกามากขึ้น เพราะลักษณะการทำธุรกิจที่นำเข้าจากไทยทั้งหมด อาจไม่ตอบโจทย์การทำตลาดในแอฟริกา และอาจต้องพิจารณาเปลี่ยนการส่งออกมาสู่การลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การจัดจำหน่าย การประกอบสินค้า หรือ การผลิตในแอฟริกามากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป มายังตลาดแอฟริกาให้มากขึ้นต่อไป

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 The EastAfrican

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login