หน้าแรกTrade insightข้าว > การค้าระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส ปี 2565 และ 2566

การค้าระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส ปี 2565 และ 2566

1. การค้าระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์

ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 การค้าระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,033.97 ล้านเหรียญสหรัฐ จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 20 ของไทย ทั้งนี้ มูลค่าดังกล่าวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน 44.11% คาดว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงานโลก โดยในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์มีอัตราเงินเฟ้อ 3.3% และ 3.4% เกือบเทียบเท่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2565 ที่ 3.5% ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยสำนักงานเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์ (State Secretariat for Economic Affairs: SECO) ประเมินว่าภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2565 ทั้งปีอยู่ที่ 2.1% ขณะที่ประมาณการเติบโตในปี 2566 จะยังเติบโตในอัตราต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1.1% คาดว่าจะส่งผลให้การค้าระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2566 ชะลอตัว

การค้าระหว่างประเทศไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ (หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

1.1 การส่งออกจากไทย

ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 ประเทศไทยส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับไปสวิสฯ เป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,053.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลง 52.16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า สืบเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจสวิสที่ชะลอตัวลง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูง ส่งผลให้ผู้บริโภคประหยัดเงินมากขึ้นจึงจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สินค้าอันดับสองคือ นาฬิกาและส่วนประกอบ (มูลค่า 72.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัว 30.63% ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มตลาดโลกในการสะสมนาฬิกาซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าสูงเพื่อการลงทุน เครื่องใช้สำหรับเดินทาง (13.6 ล้านเหรียญสหรัฐ) และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (7.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ สินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรหดตัวลงมากที่สุด 58.01% เนื่องจากการส่งออกเครื่องจักรกล ไฟฟ้า โลหะของสวิสไปยังเยอรมนีซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของการส่งออกสวิสทั้งหมด ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์พลังงาน และการแข็งค่าของค่าเงินฟรังก์สวิส

   สินค้าส่งออกหลักจากประเทศไทยไปสวิตเซอร์แลนด์ ปี 2022 และ 2023 (หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

1.2 การนำเข้าของไทย

ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 ประเทศไทยนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำมากเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นมูลค่า 427.2 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็นนาฬิกาและส่วนประกอบ (170.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (52.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักร (26.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) และเครื่องมืิอเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ (22.1 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ

สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปี 2022 และ 2023 (หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

2. โอกาสและลู่ทางการค้าของประเทศไทย

2.1 ตรา/โลโก้ Fairtrade

“แฟร์เทรด” คือ หุ้นส่วนการค้าเพื่อเสริมสร้างความเสมอภาคทางการค้า และส่งเสริมระบบการค้าที่เป็นธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตและดำเนินธุรกิจ เช่น เกษตรกร/ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า ผู้ขายส่ง และขายปลีก ทั้งนี้ สินค้าแฟร์เทรดเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในสวิตเซอร์แลนด์เป็นอย่างมาก ในปี 2563 ชาวสวิสบริโภคสินค้าแฟร์เทรดโดยเฉลี่ย 103 ยูโรต่อหัวซึ่งสูงที่สุดในโลก โดยช็อกโกแลต และผลไม้เป็นสินค้าแฟร์เทรดที่ทำรายได้สูงที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ สินค้าแฟร์เทรดถือว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและเครื่องหมายรับรองแฟร์เทรดเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีตลาดพิเศษเฉพาะ จึงเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยสินค้าแฟร์เทรดของไทยที่มีศักยภาพในตลาดสวิตฯ คือ ข้าว จากข้อมูล Global Trade Atlas ในปี 2565 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นำเข้าข้าวจากประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 2 (23.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 22.80%) รองจากประเทศอิตาลี (32.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 31.71%)

2.2 FutureFood/SuperFood/NovelFood Insect

การบริโภคแมลงเป็นอาหารส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน การผลิตแมลงใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการทำปศุสัตว์ทั่วไป และยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ตอบโจทย์กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเทรนด์รักสุขภาพ รวมถึงประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ในสวิตเซอร์แลนด์ได้เป็นอย่างดี แม้การบริโภคแมลงเป็นอาหารจะยังไม่กลายเป็นกระแสหลัก แต่ตลาดมีศักยภาพในการขยายตัวอย่างมาก ทั้งนี้ สวิตเซอร์เซอร์แลนด์อนุญาตให้บริโภคแมลงเป็นอาหารได้ตั้งแต่ปี 2560 อย่างไรก็ตาม แมลงเพื่อการบริโภคจะต้องขออนุญาตจดทะเบียนเป็นอาหารใหม่ (Novel Food) และตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์จาก Federal Food Safety and Veterinary Office หรือ FSVO รวมทั้งต้องมีการระบุส่วนผสมในฉลากให้ชัดเจนเพื่อแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้ ระเบียบข้อบังคับและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จะอ้างอิงตามสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าแมลงที่ได้รับอนุญาตให้เป็นอาหารใหม่เพื่อการบริโภคแล้ว ได้แก่

  • หนอนนก (Tenebrio molitor larva) ในรูปแบบแช่แข็ง อบแห้ง และผง
  • ตั๊กแตน (Locusta migratoria) ในรูปแบบแช่แข็ง อบแห้ง และผง
  • จิ้งหรีดทองแดงลาย (Acheta domesticus) ในรูปแบบแช่แข็ง อบแห้ง และผง
  • ด้วงขี้ไก่ (Alphitobius diaperinus larvae) ในรูปแบบแช่แข็ง พาสตา อบแห้ง และผง

ประเทศไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่สามที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกแมลงเพื่อการบริโภคมายังสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม การวางจำหน่ายแมลงในสหภาพยุโรปทุกชนิดจะต้องได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยต่อการบริโภคก่อนจากหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority หรือ EFSA) ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้ยื่นขออนุญาตวางจำหน่ายสินค้าจิ้งหรีดจาก EFSA แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้ โดยหลักการ หากสินค้าแมลงไทยได้รับการอนุญาตจาก EFSA ให้วางจำหน่ายในสหภาพยุโรปแล้ว ก็จะเป็นโอกาสในการเข้าขยายตลาดสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป

2.3 สินค้าอาหารออร์แกนิก

ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวสวิสให้ความสนใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ความนิยมในการเลือกบริโภคสินค้าเพื่อความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกมากขึ้น เชื่อมโยงกระแสด้านสุขภาพ และการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากสารเคมีตกค้าง และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ส่งผลให้การผลิตและตลาดของสินค้าอาหารออร์แกนิกมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยตลาดสินค้าอาหารออร์แกนิกในสวิตเซอร์แลนด์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 11.20% คิดเป็นมูลค่ามูลค่า 3,278 ล้านฟรังก์สวิสในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 2.2% อย่างไรก็ตามถือว่ายังคงเพิ่มขึ้น 17.20% เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถืิอเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและข้าวออร์แกนิก

2.4 สินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ลดพลาสติก บรรจุภัณฑ์ ปลอดสารพิษ BCG

2.4.1 บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม

เทรนด์ผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ เช่น

การลดปริมาณการใช้พลาสติก single-use plastic หรือ พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ขณะที่สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ปี 2564 สวิตเซอร์แลนด์ยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการห้ามดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมร้านค้าปลีกของสวิสได้อาสาที่จะเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วยตนเอง ยกตัวอย่าง เครือซุปเปอร์มาร์เก็ต Migros เลิกสต๊อกผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบ single-use เช่น ถ้วย จาน มีดส้อม และแทนที่สินค้าดังกล่าวด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุทางเลือก เช่น กระดาษ ใบปาล์ม และไบโอพลาสติก เช่นเดียวกับเครือบริษัทคู่แข่งอย่าง Coop ก็หันมาจำหน่ายช้อนส้อมทำจากไม้หรือโลหะ และชักจูงให้ผู้บริโภคหันมาซื้อบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากอุตสาหกรรมร้านค้าปลีก สมาพันธ์ร้านอาหารและโรงแรมของสวิส GastroSuisse ก็สนับสนุนกลยุทธ์ดังกล่าวเช่นกัน ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น จานกาบหมาก กล่องข้าวชานอ้อย และหลอดดูดน้ำไม้ไผ่ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ในการชูเรื่องภาชนะรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นจุดขาย

สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น สหภาพยุโรปมียุทธศาสตร์ EU Green Deal ซึ่งกำหนดให้สิ่งทอทุกชนิดที่จำหน่่ายในตลาดสหภาพยุโรปฯ ต้องมีความยั่งยืน เนื่องจาก 80% ของสินค้าสวิสส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป บริษัทสวิสจึงต้องทำตามข้อกำหนดดังกล่่าวเช่นกัน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอสวิสมีโครงการเป็นของตัวเอง คือ “Sustainable Textiles Switzerland 2030” ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และความโปร่งใส ผู้ประกอบการไทยสินค้าสิ่งทอควรมีการศึกษาและพัฒนาสินค้าให้ทันกับกระแสดังกล่าว เช่น การนำเส้นใยจากธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์กลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงการหาวัสดุธรรมชาติมาใช้แทนส่วนที่เป็นพลาสติก เช่น กระดุมจากไม้ และเปลือกหอย

– เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมยังครอบคลุมสินค้าของใช้ ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งชาวสวิสนิยมนำมาตกแต่งบ้าน เนื่องจากมีความสวยงาม คงทน และให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยรสนิยมของชาวสวิสมักชอบของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ทีี่มีความเรียบง่าย เน้นโชว์พื้นผิวของเนื้อไม้ เพื่อเป็นการเพิ่มแรงดึงดูดให้แก่สินค้าของใช้ ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย ผู้ประกอบการอาจพิจารณาขอฉลาก เช่น FSC และ PEFC เพื่อรับรองว่าวัสดุไม้ที่นำมาใช้ในการผลิตมีที่มาอย่างถูกกฎหมายและไม่ได้เป็นการตัดไม้ทำลายป่า หรืออาจใช้ไม้ทางเลือกอื่นๆ เช่น ไม้รีไซเคิล หรือเศษไม้ที่เหลือจากการนำไปทำวัสดุ ซึ่งไม่จำเป็นต้องขอฉลากรับรองและเป็นอีกแนวทางที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงเท่า

2.4.2 Zero-Carbon/CBAM

สวิตเซอร์แลนด์มีระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System –  ETS) เป็นของตนเอง อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าสวิสที่นำเข้าสินค้าจากประเทศที่ 3 เข้ามาในสหภาพยุโรปยังคงต้องปฏิบัติตามระบบ ETS ของสหภาพยุโรปซึ่งกำลังมีการบังคับใช้กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ในเบื้องต้นระบบ CBAM ครอบคลุม 5 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย รวมถึงเหล็กและโลหะ สำหรับไทยซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่การผลิตที่ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโรงงานที่ต้องอาศัยเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ในขั้นตอนการผลิต เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์และอะไหล่ท่ี่ใช้ในโรงงาน ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

2.5 New Normal: ผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

2.5.1 “การเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบดิจิตัล (Digitalization)” จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการต่างถูกผลักดันให้ใช้ช่องทางดิจิตัลในการทำธุรกิจมากขึ้น ตั้งแต่การติดต่อ สื่อสาร การทำการตลาด ไปจนถึงการจำหน่ายสินค้าต่างๆ ทางออนไลน์ นอกจากนี้ ธุรกิจเกี่ยวกับด้านดิจิตอล เติบโตขึ้น อย่างมาก เช่น แอปพลิเคชัน ดิจิตอลคอนเทนต์ สื่อออนไลน์ต่างๆ

2.5.2 “สินค้าเพื่อสุขภาพ” ชาวสวิสหันมาใส่ใจการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น จึงมีแนวโน้มว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารเสริม อาหารเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์กีฬา และชุดออกกำลังกายจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาด

2.5.3 “สินค้าสำหรับงานอดิเรก” ชาวสวิสนิยมมีงานอดิเรกในยามว่าง กิจกรรมที่ได้รับความนิยม เช่น การจัดสวน งานศิลปะ งานฝีมือ งานเย็บปักถักร้อยต่างๆ งานไม้ รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การเดินป่า การจัดแคมป์ปิ้ง จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไทยสินค้าที่เกี่ยวข้อง

**************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ที่มา:

Login