- กัมพูชา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เพื่อมุ่งส่งเสริมการค้าทวิภาคี
- ข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดย นาย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา และ นาย Thani Al Zeyoudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ณ กรุงพนมเปญ โดยมีสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเตโช Hun Sen นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ร่วมเป็นสักขีพยาน
- ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกัมพูชาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ฉบับที่ 3 ต่อจากข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2565 และ FTA กัมพูชา-เกาหลีใต้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ปี 2565
- นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังจะศึกษาความเป็นไปได้ในการเจรจาข้อตกลงฯ กับประเทศอื่นๆ เช่น ตุรกี สวิตเซอร์แลนด์ และปากีสถาน อีกด้วย
- ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจฯ มีเป้าหมายเพื่อลดภาษี ขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น รองรับและสนับสนุนการค้าการลงทุน การเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ เพื่อสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับธุรกิจในการสร้างความร่วมมือร่วมกัน
- ข้อตกลงฯ นี้ กัมพูชาได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้า ให้สหรัฐอาหรับฯ ประมาณร้อยละ 92 ของภาษีศุลกากรทั้งหมด ส่วนสหรัฐอาหรับฯ ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้า ให้กัมพูชา ประมาณร้อยละ 97.8 ของภาษีศุลกากรทั้งหมด หรือคิดเป็น 7,678 รายการ สินค้าหลักที่กัมพูชาส่งออกไปสหรัฐอาหรับฯ ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เพื่อการเดินทาง จักรยาน สินค้าเกษตร เช่น ข้าว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผัก ผลไม้ กล้วย มะม่วง ข้าวโพด พริกไทย ทุเรียน ขนมทำจากข้าว แยมผลไม้ เป็นต้น
- หลังจากพิธีลงนามเสร็จสิ้น กัมพูชาและสหรัฐอาหรับฯ จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนภายในให้เสร็จสิ้นและให้สัตยาบัน โดยทั้งสองประเทศจะปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายภายในสำหรับการให้สัตยาบันในข้อตกลงฯ นี้ ซึ่งคาดว่า ข้อตกลงนี้ฯ จะมีผลบังคับใช้ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566
- ทั้งนี้ ในปี 2565 มูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐอาหรับฯ และกัมพูชาสูงถึง 407 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปี 2564 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปี 2563
โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
(1) ในปี 2565 การค้าทั้งหมดในภูมิภาคอาหรับคิดเป็นร้อยละ 70 เป็นของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอาหรับฯ ยังเป็นศูนย์กระจายสินค้ารายใหญ่ในภูมิภาค และทั่วโลก แม้ว่าสหรัฐอาหรับฯ มีประชากรน้อยก็ตาม ทั้งนี้ ข้อตกลง Cambodia-UAE CEPA จะช่วยให้สินค้าของกัมพูชาสามารถกระจายตลาดส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับฯ และขยายไปในตลาดอาหรับอื่นๆ ซึ่งมีภูมิศาสตร์อยู่ใกล้ๆ กัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เนื่องจากสหรัฐอาหรับฯ และประเทศในภูมิภาคอาหรับเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมัน ส่วนใหญ่ขาดแคลนพื้นที่การเกษตร ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก
(2) จากการลงนามข้อตกลง Cambodia-UAE CEPA ระหว่างกัมพูชาและสหรัฐอาหรับฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 นี้ จะเป็นโอกาสของกัมพูชาในการขยายตลาดการส่งออกสินค้าที่หลากหลายชนิดไปยังสหรัฐอาหรับฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร รวมทั้งสามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆ มาลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากภูมิภาคอาหรับ ทั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีต่อผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนในกัมพูชา โดยเฉพาะการลงทุนในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ เพื่อจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ ประชาชนกัมพูชาในชนบทร้อยละ 77 ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ซึ่งทำให้กัมพูชามีผลผลิตเกษตรกรรมที่ยังไม่ได้แปรรูปมากถึงร้อยละ 75
—————————
Khmer Times, Fresh News & Ministry of Commerce’s Page
มิถุนายน 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)