- สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (the Council for the development of Cambodia : CDC) รายงานว่า ในเดือนตุลาคม 2567 ได้อนุมัติโครงการลงทุนใหม่และโครงการขยายการผลิตรวม 31 โครงการ แบ่งเป็นโครงการลงทุนใหม่ 30 โครงการ และโครงการขยายการผลิต 1 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างงานได้ถึง 16,000 ตำแหน่ง
- โครงการที่ได้รับการอนุมัตินี้ ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น โรงงานรองเท้า เสื้อผ้า ของตกแต่งและของใช้ในบ้าน อุปกรณ์แคมป์ปิ้ง เครื่องดื่ม กระเป๋า สินแร่ อุตสาหกรรมเกษตร ส่วนประกอบรถยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
- โดยนักลงทุนจีนถือครองส่วนแบ่งมากที่สุด คิดเป็น 53.39% ของการลงทุนทั้งหมด ตามด้วยนักลงทุนภายในประเทศซึ่งมีสัดส่วน 29.47% และที่เหลือเป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ โดย การลงทุนกว่า 93% อยู่ในภาคอุตสาหกรรม และประมาณ 6% อยู่ในภาคเกษตรกรรม
- ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2567 CDC ได้อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 26 โครงการ และโครงการขยายการผลิต 2 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานได้ประมาณ 25,000 ตำแหน่ง โดย 28 โครงการเหล่านี้ มี 22 โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) และ อีก 6 โครงการอยู่นอก SEZ
ข้อมูลที่น่าสนใจ
- ภาพรวมการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของ CDC นับตั้งแต่ปี 2537 – 2567 (เฉพาะ 9 เดือนแรกของปี 2567) มีจำนวน 4,569 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 48,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร โดยไทยมีมูลค่าการลงทุนเป็นลำดับที่ 9
ความเห็นของสำนักงานฯ
- ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กัมพูชาถือเป็นประเทศมีการเติบโดของเศรษฐกิจที่สูงในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีค่าแรงงานที่ต่ำ ประเทศมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง และสิทธิพิเศษด้านภาษีในการใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและสินค้าที่เกี่ยวกับข้องกับการเดินทาง โดยคาดว่าในอนาคตการลงทุนในกลุ่มนี้จะยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้กัมพุชาจะพยายามส่งเสริมอุตสหกรรมอื่นๆ เช่น ภาคการเกษตร ขึ้นมาแทนบ้างแล้วก็ตาม
- กัมพูชาไม่เพียงแต่เป็นฐานผลิตและส่งออกสิ่งทอสู่ตลาดโลก แต่ยังเป็นฐานผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร เครื่องดื่ม และทรัพยากรแร่บางชนิด เนื่องจากประเทศยังที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แร่ธาตุ และพื้นที่เกษตรกรรม และยังมีข้อตกลงการค้าเสรีทั้งทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ RCEP ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้
- จากนโยบายของสหรัฐอเมริกา (ทรัมป์ 2.0) ที่จะใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีที่ชัดเจนกับจีน จึงคาดว่าในระยะสั้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตสินค้าบางประเภทออกจากจีนมายังภูมิภาครวมถึงกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกัมพูชาถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของจีนมาโดยตลอด ในระยะกลางและยาว จึงอาจมีความเสี่ยงจากการมาตรการอื่นๆ ที่สหรัฐฯ จะออกมากีดกันทางการค้าเพิ่มเติมได้เช่นกัน ผู้ประกอบการไทยที่มีแผนที่จะลงทุนในกัมพูชาเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก จึงควรติดตามสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อประกอบการพิจารณาการลงทุน
————————
ที่มา: Phnom Penh Post
พฤศจิกายน 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนใหม่กว่า 30 โครงการในเดือนตุลาคม 2567