- กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาและคณะผู้แทนจากรัฐสภาสหรัฐฯ ได้หารือถึงแนวทางการต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี GSP
- การหารือดังกล่าวมีการเข้าร่วมโดย นาย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการค้าในด้านต่างๆ รวมถึงข้อตกลงทางการค้าและความต่อเนื่องของระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี GSP โดยนาย Pan Sorasak ได้สอบถามคณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ ถึงวิธีการขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ พิจารณาการต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี GSP เพื่อรักษาความร่วมมือ และส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งกัมพูชาและสหรัฐฯ ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนระหว่างสองประเทศ
- ทั้งนี้ ระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี GSP ได้หมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2563 และยังไม่มีการต่ออายุแต่อย่างใด ในขณะที่ภาคเอกชนกำลังรอคอยการตัดสินใจจากรัฐสภาสหรัฐฯ
- อย่างไรก็ตาม นาย Pan Sorasak ได้แจ้งคณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้นในกัมพูชา เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2566 เป็นไปด้วยความราบรื่น และความก้าวหน้าของกัมพูชาในการขยายตลาดส่งออกในปีนี้ รวมถึงการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคและข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ตลอดจนการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนให้ดึงดูดการลงทุนที่มากขึ้น
- กัมพูชาได้ขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ ต่ออายุระบบ GSP โดยเฉพาะสินค้า เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์เพื่อการเดินทาง เป็นต้น เนื่องจากการต่ออายุระบบ GSP จะช่วยกระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจากนี้ยังขอให้บริษัทของสหรัฐฯ ลงทุนในกัมพูชามากขึ้น เพื่อลดการขาดดุลการค้าระหว่างทั้งสองประเทศและเพื่อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
- ทั้งนี้ กัมพูชาพร้อมกับประเทศ LDCs หรือ Least Developed Countries อื่นๆ กำลังเรียกร้องและขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ พิจารณาการต่ออายุระบบ GSP อีกครั้ง เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
- ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2566 มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ มีมากกว่า 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 29 ซึ่งมีมูลค่า 119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของกัมพูชาด้วยปริมาณการค้าทวิภาคี 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ความเห็นของสำนักงานฯ
- สหรัฐฯ เป็นผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้า สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เพื่อการเดินทาง และรองเท้า โดยมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 40.2 ของมูลค่าทั้งหมด 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจกัมพูชา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อ การส่งออกที่ได้สร้างรายได้ให้กัมพูชามากกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน
- การหารือระหว่างกัมพูชาและคณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อต่ออายุระบบ GSP ยังไม่สามารถคาดได้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯ จะพิจารณาต่ออายุระบบ GSP ให้กัมพูชา เนื่องจากกัมพูชากำลังยกระดับประเทศจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูงในปี 2573 ดังนั้น การหารือในครั้งนี้ต้องรอดูผลในครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาการส่งออกเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าให้เหลือเพียง 50% ภายในปี 2568 และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ทดแทน รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมสนับสนุนเพื่อทดแทน การนำเข้า เพิ่มความหลากหลายของสินค้าส่งออก และเชื่อมต่ออุตสาหกรรมของกัมพูชาเข้ากับห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคในระยะต่อมา นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจหลักของกัมพูชา ด้วยการให้ระยะพักชำระภาษี 3-5 ปี
- ความพยายามเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ได้แก่ การยกเว้นภาษีสูงสุดถึง 9 ปี สำหรับธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และการให้สิทธิ์ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 100% ยังคงทำให้การลงทุนในกัมพูชามีความน่าสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร บรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเกิดใหม่เหล่านี้ยังมีโอกาสในการส่งออก เนื่องจากกัมพูชามี FTA กับจีนและเกาหลีใต้ และ RCEP พร้อมทั้ง GSP กับสหราชอาณาจักร และ EBA กับสหภาพยุโรป รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวของกัมพูชายังมีศักยภาพขยายตัวได้อีกในระยะข้างหน้าทั้งจากความน่าสนใจของสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาและโอกาสในหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ตัวแทนท่องเที่ยวและบริการขนส่ง เป็นต้น
—————————
Phnom Penh Post & Khmer Times
สิงหาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)