- จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา ระบุว่า การส่งออกสินค้าจากกัมพูชาไปยังไทยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค. – พ..ค) ของปี 2566 มีมูลค่ากว่า 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ในขณะที่การค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่ามากกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- โดย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกจากกัมพูชาไปยังไทยมีมูลค่า 480.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.46 และมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีจำนวนประมาณ 1,224.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงร้อยละ 14.4
- ทั้งนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่า 1,705.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.8 จาก 1,869.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกัมพูชาขาดดุลการค้าประมาณ 744.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 4 ของกัมพูชา รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
- นาย Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา เปิดเผยว่า สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของกัมพูชาไปยังไทยเป็นสินค้าเกษตร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ติดชายแดนกัมพูชาและไทย ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ได้ว่ากำลังผลิตในกัมพูชาเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนบริษัทที่ลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นและกระจายไปในเกือบทุกพื้นที่ ทำให้มีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น และยังช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา พร้อมทั้งสร้างงานให้คนในท้องถิ่นอีกด้วย โดยทั้งหมดนี้ มีส่วนมาจากการปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขและกฎเกณฑ์การลงทุนของรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งทำให้กำลังการผลิตสินค้ากัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- ด้าน นาย Hong Vanak นักวิจัยเศรษฐกิจแห่งราชบัณฑิตยสถานประจำกัมพูชา เปิดเผยว่า แม้ว่าการส่งออกของกัมพูชาจะเพิ่มขึ้น แต่ไทยยังได้ดุลการค้าอยู่มาก ดังนั้น กัมพูชาต้องพยายามขยายประเภทผลิตภัณฑ์และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น
- ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ดุลการค้า กัมพูชาจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งด้วยการดึงดูดการลงทุนมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิต และเสริมสร้างศักยภาพแรงงาน
โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
(1) ไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับต้นๆ ของกัมพูชา ที่ทำการค้าระหว่างกันมายาวนาน เป็นประเทศที่มีชายแดนติดกัน และมีวัฒนธรรมและประเพณีที่คล้ายๆ กัน ซึ่ง ในปี 2565 ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 4 ของกัมพูชา รองมาจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยคิดเป็นร้อยละ 8.89 ของมูลค่ารวมทั่วโลก 52.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
(2) แม้ว่า อัตราการเติบโตการส่งออกสินค้ากัมพูชาไปยังไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ก็ตาม แต่กัมพูชายังขาดดุลการค้ากับไทยอยู่มาก โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และอัตราการลงทุนจากไทยในกัมพูชาก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น หมายความว่า คนกัมพูชาชื่นชอบสินค้าไทยมาด้วยตลอด เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพดี และราคาจับต้องได้ อย่างไรก็ตาม การค้าระหว่างไทย-กัมพูชา เติบโตอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีต่อกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาลงทุนโดยใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าต่อไปยังประเทศอื่นๆ เนื่องจากกัมพูชามีวัตถุดิบในการผลิตที่มากมาย โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร และแรงงานยังถือว่าถูกกว่าที่ประเทศไทย โดยผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตและจำหน่ายภายในประเทศกัมพูชา หรือผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ที่มี FTA กับกัมพูชา
—————————
Phnom Penh Post
มิถุนายน 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)