เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 พิธีเปิดตัวของโครงการศูนย์ซื้อขายผลไม้จีน-อาเซียน (หนาน-หนิง) จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าดีเด่นจีน-อาเซียน (China-ASEAN Mercantile Exchange, CAMEX) เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ศูนย์ค้าขายผลไม้จีน-อาเซียนเป็นโครงการความสําเร็จเบื้องต้นของเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมจีน-อาเซียน โดยอาศัยความได้เปรียบทำเลที่ตั้งของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่มีชายแดนติดกับประเทศอาเซียน ผลักดันให้สร้างขึ้นในพื้นที่ย่อย 3 เมือง ได้แก่ เมืองหนานหนิง เมืองฉงจั่ว เมืองชินโจว โดยมีวัตถุประสงค์สร้างเป็นศูนย์กระจาย ศูนย์ค้าขาย และศูนย์แปรรูปสำหรับผลไม้ที่เปิดสู่ทั่วประเทศจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้การค้าขาย การจัดแสดง การชำระเงิน การเก็บโกดัง การแปรรูป โลจิสติกส์ การพิธีการศุลกากรของผลไม้ระหว่างจีน-อาเซียนได้ดำเนินการในพื้นที่เดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์ค้าขายผลไม้จีน-อาเซียน (หนานหนิง) ตั้งอยู่ในสวนโลจิสติกส์นานาชาติหนานหนิงจีน-สิงคโปร์ (China-Singapore Nanning International Logistics Park) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันของ CAMEX โดยโครงการนี้มีพื้นที่ประมาณ 298.62 ไร่ คาดว่าเงินลงทุน 1,600 ล้านหยวน การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 เฟส พื้นที่โครงสร้างอาคาร 480,000 ตารางเมตรคาดการณ์ว่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2570 ศูนย์ค้าขายผลไม้จีน-อาเซียนแห่งนี้จะรวบรวมช่องทางอุปทานผลไม้สดของจีนและอาเซียน จัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานการค้าการนำเข้าและส่งออกผลไม้ โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของสวนโลจิสติกส์นานาชาติหนานหนิงจีน-สิงคโปร์ เช่น ระบบห่วงโซ่ความเย็นขนาดใหญ่ โกดังที่มีมาตรฐานสูง และอาศัยแพลตฟอร์มค้าขายทางออนไลน์และออฟไลน์ของ CAMEX รวมถึงยกระดับความสะดวกของการผ่านด่านของผลไม้ ส่งเสริมให้ผลไม้ของจีนและผลไม้ของประเทศอาเซียนมีการค้าขายระหว่างกันเป็นขนาด
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 พิธีเปิดตัวของศูนย์ค้าขายผลไม้จีน-อาเซียน (เมืองฉงจั่ว) จัดขึ้นที่อำเภอระดับเมืองผิงเสียง ศูนย์ค้าขายนี้มีพื้นที่ 753 ไร่ ประกอบด้วยเขตดำเนินงานสำคัญและเขตแปรรูป สำหรับเขตดำเนินงานสำคัญมีพื้นที่ 205 ไร่ ได้ก่อสร้างสำเร็จแล้ว 42 ไร่และได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ สำหรับเขตแปรรูปมีพื้นที่ 548 ไร่ การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 เฟส เงินลงทุน 4,000 ล้านหยวน โดยเน้นงานการแปรรูปในพื้นที่ และการเก็บโกดังระบบความเย็นเป็นหลัก โครงการนี้ดำเนินตามโมเดล “ด่านชายแดน + ตลาด” โดยเน้นด่านโหย่วอี้กวนเป็นด่านนำเข้าสำคัญ หลังจากการเปิดใช้งาน มีทุเรียนไทย แก้วมังกรของเวียดนามจำนวน 20 ตู้คอนเทนเนอร์ได้กระจายไปยังเมืองต่างๆ ของประเทศจีนจากที่นี้
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ศูนย์ค้าขายผลไม้จีน-อาเซียน (เมืองชินโจว) ที่ตั้งอยู่ในเมืองชินโจวได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ศูนย์ค้าขายฯ นี้มีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ทางทะเล โดยเน้นการนำเข้าทุเรียน มะม่วง มะพร้าว มังคุด ลำไย จากไทย มาเลเซีย กัมพูชา เป็นหลักโดยสร้างแพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์และสร้างโครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุฟังก์ชัน 7 ประการ ได้แก่ การจัดแสดงและประชาสัมพันธ์สินค้า การกระจายสินค้า การค้าออนไลน์ โลจิสติกส์แบบอัจฉริยะ การตรวจสอบและผ่านด่าน การค้าผ่านระบบ E-commerce และการแปรรูปในพื้นที่ รวมถึงสร้างเป็นฐานไลฟ์สดผลไม้จีน-อาเซียน ตั้งเป้าหมายว่ามีการนำเข้าและส่งออกผลไม้ในปี 2568จำนวนมากกว่า 600,000 ตัน ภายในวันเดียวกันทุเรียนของมาเลเซียล็อตแรกของศูนย์ค้าขายผลไม้จีน-อาเซียนมาถึงท่าเรือชินโจวและได้ขนส่งเข้าโกดังระบบความเย็น
เขตฯ กว่างซีจ้วงมีชายแดนติดกับประเทศอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวกในการนำเข้าและส่งออกผลไม้กับกลุ่มประเทศอาเซียน ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงนำเข้าผลไม้จากกลุ่มประเทศอาเซียนมูลค่า 3,660 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 193.7%
ความเห็นสคต.เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้รับการมอบมายจากรัฐบาลจีนกลางในการสร้างเขตความร่วมมือจีน-อาเซียน โดยสร้างเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมจีนอาเซียนในเมืองที่ติดกับทะเลและชายแดน เช่น เมืองชินโจว เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองเป๋ยไห่ เมืองผิงเสียง เมืองตงซิงและเมืองไป่เซ่อ เป็นต้น โดยเฉพาะทุ่มกำลังในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของนิคมอุตสาหกรรมในเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมจีน-อาเซียน และส่งเสริมการรวบรวมอุตสาหกรรมให้พัฒนาพร้อมกัน ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่ระหว่างการศึกษาดูงานในเมืองต่างๆ ดังกล่าวเพื่อจัดทำ “แผนแม่บทเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมจีนอาเซียน” อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ จึงพูดได้ว่า ศูนย์ค้าขายผลไม้จีน-อาเซียนพื้นที่ย่อยเมืองหนานหนิง เมืองฉงจั่ว เมืองผิงเสียงถือว่าเป็นผลสำเร็จเบื้องต้นของเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมจีนอาเซียน การเลือกจัดตั้งในเมือง 3 แห่งดังกล่าว เนื่องจากว่า
เมืองหนานหนิง เป็นเมืองเอกของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีระบบโลจิสติกส์ที่ครบวงจร มีสนามบินนานาชาติหนานหนิงที่สามารถนำเข้าผลไม้ได้ ระยะเวลาการขนส่งผลไม้จากกลุ่มประเทศผ่านเครื่องบินไม่ยาวนาน เช่น จากไทยถึงเมืองหนานหนิงใช้เวลา 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ จากเมืองชายแดน เช่น เมืองผิงเสียง/เมืองชินโจวมายังเมืองหนานหนิงผ่านทางถนนและทางรถไฟใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
เมืองชินโจว เป็นเมืองที่มีท่าเรือนำเข้าผลไม้จากอาเซียนที่สำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วง จากท่าเรือแหลมฉบังมายังท่าเรือชินโจวใช้เวลาขนส่งประมาณ 3-4 วัน โดยมีเที่ยวเรือขนส่งสัปดาห์ละ 5 เที่ยว
เมืองผิงเสียง เป็นเมืองที่มีด่านชายแดนจำนวนหลายด่าน โดยมีด่านโหย่วอี้กวนเป็นด่านนำเข้าผลไม้จากกลุ่มประเทศอาเซียนที่สำคัญของจีน การขนส่งผลไม้จากไทยมายังด่านโหย่วอี้กวนใช้เวลา 2-3 วัน
ดังนั้น การตั้งศูนย์ค้าขายผลไม้จีน-อาเซียนในพื้นดังกล่าว จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมผลไม้นำเข้าจากอาเซียนได้พัฒนาควบวงจรในรูปแบบบูรณาการ อาจดึงดูดให้บริษัทนำเข้าสินค้าเข้ามาลงทุนจัดตั้งโกดังหรือพื้นที่ในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น และสามารถดึงดูดผู้จากซื้อจากเมืองต่างๆ ของทั่วประเทศจีนมาจัดซื้อผลไม้ในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมการนำเข้าผลไม้และการแปรรูปผลไม้ของกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง
https://mp.weixin.qq.com/s/BsyK8e-FiYsQIRXqhmc7Mg
http://www.gx.chinanews.com.cn/cj/2023-08-27/detail-ihcsmwis8513267.shtml
http://gx.news.cn/20230828/f421e4f20c5a48b99de63cf55b9f0822/c.htmlhttp://www.gxnews.com.cn/staticpages/20230827/newgx64eaacbb-21262768.shtml
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)