หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > กลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก (EAC) ได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ต่อสงครามต่อต้านการค้าเสื้อผ้ามือสอง (Mitumba)

กลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก (EAC) ได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ต่อสงครามต่อต้านการค้าเสื้อผ้ามือสอง (Mitumba)

ประเทศในแอฟริกาตะวันออกกำลังสร้างความสนใจอีกครั้งด้วย แนวความคิดที่จะห้ามการนำเข้าเสื้อผ้ามือสองเข้ามาขายในประเทศ โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสที่ว่า แนวคิดนี้จะสามารถช่วยส่งเสริมและปกป้องอุตสาหกรรมสิ่งทอที่กำลังขยายตัวในกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั้นมีต้นทุนการผลิตสูงและแน่นอนว่า เรื่องต้นทุนนี้จะเป็นช่องว่างในการเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกที่สามารถทำราคาได้ต่ำกว่าอย่างผู้ส่งออกจากจีนได้ส่วนแบ่งทางการตลาดนี้แทนผู้นำเข้าท้องถิ่นที่นำเข้าสินค้าจากยุโรปหรือประเทศอื่นๆ ไป กลายเป็นการเพิ่มยอดการส่งออกให้กับประเทศจีนไปโดยปริยาย และนั่นทำให้เกิดความเห็นแตกแยกเกี่ยวกับ แนวคิดในการที่จะสนับสนุนหรือยกเลิกการนำเข้าและจำหน่ายเสื้อผ้ามือสอง หรือที่เรียกกันทั่วไปในภาษาท้องถิ่นว่า “Mitumba” ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (ก.ย. 2566) ประเทศยูกันดเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากประเทศรวันดา ที่สั่งห้ามการนำเข้าและจำหน่าย “Mitumba” โดยประธานาธิบดีโยเวรี มูเซเวนี กล่าวว่า รัฐบาลกำลังส่งเสริมนโยบายระดับชาติที่ว่าด้วย “ซื้อยูกันดา สร้างยูกันดา” ขณะเดียวกันทางรัฐบาลได้เริ่มตรวจสอบการทำงานของโรงงานในอุตสาหกรรม

สิ่งทอจำนวน ๑๖ แห่ง ที่นิคมอุตสาหกรรม Sino Uganda-Mbale ตั้งอยู่ที่เมือง Mbale ของยูกานดา พร้อมทั้งกล่าวว่าการนำเข้าเสื้อผ้าใช้แล้วอย่างต่อเนื่องเป็นการขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอในท้องถิ่น การสั่งห้ามนำเข้าและซื้อขาย Mitumba นั้นอาจฟังดูน่าสนใจสำหรับผู้ผลิตสิ่งทอในท้องถิ่น แต่มักจะไม่ประสบความสำเร็จในการสั่งห้ามการนำเข้า เพราะความเคลื่อนไหวของประธานธิบดียูกันดาในครั้งนี้ มีความเสี่ยงที่จะสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้ในปี ๒๕๖๑ ทางสหรัฐอเมริกาได้ขู่ว่าจะทำให้ประเทศรวันดาไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากพระราชบัญญัติการให้สิทธิพิเศษทางภาษีของสหรัฐฯ แก่ประเทศในกลุ่ม Sub-Sahara Africa โดยสินค้าที่ได้รับสิทธิ์สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยได้รับการยกเว้นภาษีอากร (AGOA ACT) เป็นการโต้ตอบเมื่อประธานาธิบดี พอล คากาเม่ (ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้น) ได้มีนโยบายห้ามการซื้อ-ขาย เสื้อผ้ามือสองเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอในท้องถิ่น

เดิมทีประธานาธิบดียูกันดามีกำหนดให้ประกาศที่ห้ามการนำเข้านี้ มีผลบังคับใช้วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๖ หากแต่เนื้อหาดังกล่าวกำลังส่อแววว่า จะก่อให้เกิดพายุสงครามทางการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตสิ่งทอในประเทศได้ร้องเรียนว่า เสื้อผ้ามีสองมีอยู่ล้นตลาด เป็นการบ่อนทำลายอุตสาหกรรมฝ้ายและสิ่งทอของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าและตัวแทนจำหน่ายเสื้อผ้ามือสองกลับตำหนิผู้ผลิตในท้องถิ่นว่าผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทางด้านผู้นำสมาคมการค้าแห่งกัมปาลา (Kampala City Traders Association – Kacita) ได้ลงความเห็นกันว่าจะขอความร่วมมือจากรัฐบาลยูกันดาให้ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าเสื้อผ้ามือสอง หรือให้การสั่งห้ามนี้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก่อนที่จะยุติการนำเข้าอย่างจริงจัง ทางผู้นำสมาคมการค้าฯ ยังมองว่า รัฐบาลไม่ได้ทำการวิจัย สำรวจหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเพียงพอ ประการแรก รัฐบาลต้องหาคำตอบด้วยว่า ทำไมชาวยูกันดาจึงต้องการนำเข้าและต้องการใช้เสื้อผ้ามือสองเหล่านี้ แล้วรัฐบาลจะได้คำตอบที่เป็นปัจจัยหลักสองข้อ คือ กำลังซื้อของผู้บริโภค และความทนทานของเสื้อผ้าที่นำเข้า อีกทั้งการห้ามนำเข้านี้จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้ในประเทศลดลงอีกด้วย ทางสมาคมมีการนำเข้าเสื้อผ้าใช้แล้วโดยเฉลี่ยจำนวน ๒๕๐ ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี โดยแต่ละตู้คอนเทนเนอร์มีการเรียกเก็บภาษีประมาณ ๑๐๐ ล้านยูกันดาชิลลิ่ง หรือเท่ากับจำนวนเงินประมาณ ๒๖,๗๘๑ เหรียญสหรัฐ

อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอคือ ผู้ส่งออกจากประเทศจีนในสินค้าเสื้อผ้ามือสองและเสื้อผ้าใหม่ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั้นมีต้นทุนการผลิตสูง เป็นข้อที่จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ส่งออกอย่างประเทศจีนที่สามารถทำราคาได้ต่ำ เข้ามามีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ทางสมาคมการค้าแห่งกัมปาลา ได้แสดงความเห็นว่า ชาวจีนทำการค้าแบบนึกถึงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ผู้ส่งออกจีนต้องการเป็น ผู้จัดหาวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต เป็นผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก หรือ ทำการค้าแบบครบวงจรแต่เพียงผู้เดียว ผู้ผลิตในประเทศที่มองว่าจะแข่งขันได้มากขึ้นนั้น แท้จริงแล้วจะไม่สามารถแข่งขันได้เลย

อ้างอิงจาก เนื้อหาข้อตกลงทางการค้าในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก หรือ EAC มีการระบุว่า การห้ามนำเข้าเสื้อผ้ามือสองตั้งแต่ปี 2599 และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 แต่เมื่อรัฐบาลรวันดาประกาศใช้นโยบายดังกล่าว ก็ได้รับผลกระทบจากสหรัฐอเมริกาในการตัดสิทธิประโยชย์ด้านการค้าจาก AGOA ACT ทางด้านประเทศเคนยาเอง ก็ได้มีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยระบุว่า มีหลักฐานประกอบเพียงเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นว่า นโยบายการห้ามนำเข้าเสื้อผ้ามือสองจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศหรือเพิ่มรายได้ให้กับคนงานในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งยังมีความเห็นว่า การห้ามนำเข้ายิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าเสื้อผ้าราคาถูกจากจีนมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่จีนได้กลายมาเป็น ผู้เล่นที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอระดับภูมิภาคในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังประเทศต่างๆ อย่างเช่น เคนยา แองโกลา และกานา ได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อนึ่ง ความต้องการปกป้องอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศได้นำมาซึ่งข้อเสนอใหม่ทางด้านภาษีใหม่ โดยเมื่อไม่นานมานี้ทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรีการค้าของประเทศเคนยา ได้เสนอให้มีการคิดอัตราภาษีใหม่สำหรับเสื้อผ้านำเข้ามาบังคับใช้เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมสิ่งทอในท้องถิ่นมีโอกาสเติบโตได้ จะมีการเสนอการจัดเก็บภาษีอัตราใหม่ที่ร้อยละ 25 สำหรับเสื้อผ้านำเข้า เพราะถึงเวลาแล้วที่เคนยาต้องขยายอุตสาหกรรมภาคสิ่งทอเพื่อประโยชน์ของชาวเคนยา แต่ถึงกระนั้นความคิดนี้กลับมีความย้อนแย้งในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศด้วยเช่นกัน เพราะโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละตันของการนำเข้า Mitumba จะสามารถสร้างงานได้ เกิดอัตราการจ้างงานประมาณ 7 ตำแหน่ง ภาคส่วนนี้เป็นแหล่งสินค้าหลักและเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และผู้ค้ารายย่อยตามคาดการณ์มากกว่า 7.4 ล้านราย เกิดการจ้างแรงงานคนเคนยาประมาณ 14.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98 ของธุรกิจทั้งหมดในเคนยา

ประเทศรวันดาพึ่งพากานำเข้าวัตถุดิบมากกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม EAC ตามรายงานของกลุ่มความร่วมมือระบุว่าร้อยละ 91 ของการจ้างงานในรวันดาเป็นการจ้างงานนอกระบบ ในขณะที่ค่าจ้างในอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และ EAC ถือเป็นตลาดเสื้อผ้าและรองเท้ามือสองที่สำคัญ มีมูลค่าถึง 147 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการจ้างงานให้กับชาวอเมริกันค่าแรงต่ำถึง 40,000 คน ควบคู่ไปกับอัตราการจ้างงานสำหรับองค์กรเพื่อการกุศลที่รับบริจาคเสื้อผ้า รองเท้าเหล่านี้ ถือเป็นการจ้างงานทางอ้อม ทั้งนี้ตามระบียบการในองค์กรการค้าโลก (WTO) สหรัฐอเมริกามักอ้างถึงการห้ามสวมเสื้อผ้าที่ใช้แล้วซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการทางการค้าที่เข้มงวด สำหรับกลุ่ม EAC การนำเข้าเสื้อผ้าใช้แล้วจากทั่วโลก คิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ ๒๗๔ ล้านเหรียญสหรัฐ ตามการศึกษาข้อมูลของกลุ่ม USAID เมื่อปี ๒๕๖๐

ด้านที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดียูกันดา ได้มีมุมมองต่อการที่จะถูกบีบไม่ให้ได้รับประโยชน์จาก AGOA ACT ตามที่สหรัฐอเมริกาจะใช้เป็นข้อตอบโต้ทางการค้านั้น นำมาซึ่งข้อเสนอแนะสำหรับการห้ามนำเข้าแบบผ่อนปรน โดยเริ่มจากห้ามการนำเข้าเสื้อผ้าที่สามารถผลิตเองได้ไม่ยาก อย่างเช่น ชุดชั้นใน ผ้าปูที่นอน และถุงน่อง เนื่องจากกำลังการผลิตในประเทศกำลังมีเพิ่มขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะสนับสนุนอุตสาหกรรมในท้องถิ่น แต่ก็ควรพิจารณาด้วยว่าผู้ผลิตในท้องถิ่นของยูกันดาสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคกว่า 40 ล้านคนในประเทศได้อย่างเพียงพอหรือไม่ หากมีการสั่งห้ามนำเข้าโดยสิ้นเชิงดังกล่าว

ยูกันดาเป็นผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จะส่งออกในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูป โดยมูลค่าการส่งออกฝ้ายของยูกันดาโดบเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 26 ถึง 76 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี ๒๕๖๕ ตามข้อมูลของธนาคารกลางยูกันดา ทางด้านองค์กรพัฒนาฝ้ายของยูกานดา ซึ่งหน่วยงานที่ติดตามการผลิต การแปรรูป และการตลาดของฝ้ายในยูกันดา กล่าวว่า การลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการซื้อในยูกันดาและประเทศเพื่อนบ้านได้โดยง่าย ในปี 2564 ยูกันดาส่งออกฝ้ายดิบมูลค่า 13.5 ล้านเหรียญสหรัฐ จากบันทึกข้อมูลการผลิตฝ้ายต่อปียูกันดาผลิตฝ้ายได้ประมาณ 254,000 มัด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจะมีศักยภาพในการผลิตได้ถึง 1,000,000 ล้านมัด ในระดับการจ้างงานอย่างเต็มที่

ความเห็นของ สคต.

ความเห็นในเรื่องการห้ามนำเข้าเสื้อผ้ามือสองในประเทศต่างๆ ในแอฟริกาตะวันออก สะท้อนให้เห็น นโยบายที่รัฐบาลในประเทศเหล่านั้น ที่พยายามจะปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยมาตรฐานการผลิต รูปแบบ คุณภาพของสินค้าที่ผลิตในประเทศเหล่านี้ ยังไม่ค่อยได้มาตรฐานในระดับสากลนัก ทำให้ในทางปฎิบัติอาจยังไม่สามารถแข่งขันได้กับสินค้าที่มีคุณภาพจากต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลของประเทศในแอฟริกาตะวันออกจะต้องพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมก่อนที่จะมีมาตรการอะไรออกมา เพราะนอกจากไม่ได้ผลตามที่มุ่งหวังไว้แล้ว อาจต้องมีปัญหาทางการค้ากับสหรัฐและอาจทำให้เป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ ที่เป็นแหล่งผลิตรับจ้างการผลิตสินค้าให้กับสหรัฐและยุโรปได้ในทางกลับกัน

ในส่วนของไทยนั้น เสื้อผ้าของไทยได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ ดีไชน์ และราคาที่มีความเหมาะสมกับตลาดแอฟริกาในระดับนึง โดยเสื้อผ้าที่ส่งมานั้น มีราคาสูงแต่เป็นที่ยอมรับแก่ผู้มีกำลังชื้อสูงประเทศนึง ทำให้ไทยอาจไม่ได้รับกระทบมากนักหากการห้ามนำเข้าเสื้อผ้ามือสองในประเทศเหล่านี้ มีมาตรการดังกล่าวในอนาคต อย่างไรก็ดี การที่ผู้ผลิตในประเทศจะมีการพัฒนาทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพที่จะผลิตสินค้ามากขึ้นในอนาคต ก็อาจกระทบต่อสินค้าไทยที่มีราคาสูงได้ในอนาคต ดังนั้น ผู้ผลิตไทยควรมองหาโอกาสในการเข้ามาลงทุนและใช้โรงงานในแอฟริกาส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดยุโรปและสหรัฐมากขึ้นในอนาคต ดังเช่น อินเดีย จีน เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากขึ้นในแอฟริกาทั้งใน เอธิโปเปีย แทนซาเนีย เคนยา และยูกานดา ตามลำดับ

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

The EastAfrican

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login