ที่ประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ได้ประกาศรับสมาชิกใหม่ 6 ประเทศ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ได้แก่ อาร์เจนตินา เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และเอมิเรตส์
การขยายกลุ่มบริกส์ (BRICS plus) ครั้งนี้ (เป็นการขยายกลุ่มครั้งที่ 2 โดยครั้งแรก BRIC เปิดรับแอฟริกาใต้เข้ากลุ่มเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553) ได้ถูกยกขึ้นหารือในที่ประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ในปี 2560 โดยจีน ซึ่งต้องการผลักดันการขยายกลุ่มไปยังประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคตน มีเสถียรภาพทางการเมือง ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางการค้า และมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มบริกส์ โดยได้มีการทาบทามประเทศศักยภาพที่เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมีอียิปต์และไทยรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มบริกส์ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
อียิปต์ยื่นใบสมัครอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อขอร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ โดยอียิปต์เชื่อมั่นว่ามีคุณสมบัติครบทุกประการ โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์กับสมาชิกกลุ่มบริกส์ เช่น รัสเซียที่ช่วยอียิปต์ก่อสร้างเขื่อนที่เมืองอัสวานและโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองดาบาอ์ บราซิลที่มีมูลค่าการค้ากับอียิปต์ 2.6 พันล้านดอลลลาร์สหรัฐและจัดทำ FTA กับอียิปต์ร่วมกับกลุ่ม MERCOSUR จีนที่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในอียิปต์ โดยเฉพาะดาวเทียม ทางรถไฟความเร็วสูง และการสร้างเมืองราชการแห่งใหม่ และอินเดียที่เข้ามาลงทุนและทำการค้าในอียิปต์เป็นจำนวนมาก โดยการค้าระหว่างกลุ่มบริกส์-อียิปต์ในปี 2565 มีมูลค่า 31.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากปี 2564 และการลงทุนของกลุ่มบริกส์ในอียิปต์ในปี 2564-65 มีมูลค่า 891.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.9 จากปี 2563-2564 (ที่มา Egyptian Central Agency for Public Mobilization and Statistics (CAPMAS) อ้างใน “Egypt stands to gain multiple benefits as a member of the BRICS bloc: Experts” ใน Ahram Online)
ข้อสังเกต
1) อียิปต์จะได้ประโยชน์จากขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS plus ที่มีประชากรรวมร้อยละ 46 ของประชากรโลก (ที่มา “Brics to Admit Six New Countries to Bloc Including Iran and Saudi Arabia” ใน http://infobrics.org/) และมี GDP ที่คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 40 ของ GDP โลก ในปี 2593 ซึ่งคาดว่าจะทำให้การค้าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการถ่ายโอนเทคโนโลยี ไหลเข้าอียิปต์เป็นจำนวนมาก (ที่มา “Assessing the Economic Implication of Egypt’s Potential Membership in BRICS: Opportunities, Challenges, and Prospects” ใน ERRA International Journal of Environmental Economics, Commerce and Educational Management)
2) ความพยายามของกลุ่มบริกส์ที่จะใช้สกุลเงินทางเลือก (ที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ) ในการทำการค้าระหว่างสมาชิกจะส่งผลดีต่ออียิปต์ที่กำลังประสบภาวะขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐมายาวนาน 1.5 ปี
โดยคาดว่าจะช่วยอุดช่องว่างของดอลลาร์สหรัฐที่อียิปต์ต้องการได้ถึง 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงปี 2569 (ที่มา “Explainer: Four key benefits for Egypt as a member of BRICS” ใน Ahram Online)
3) อียิปต์จะมีความมั่นคงในสินค้ายุทธศาสตร์ โดยอียิปต์ได้มีการหารือกับรัสเซียเพื่อขอซื้อข้าวสาลีด้วยเงินรูเบิลรัสเซีย และอินเดียเพื่อขอซื้อข้าวด้วยเงินรูปีอินเดีย รวมถึงสินค้ายุทธศาสตร์อื่น ๆ
4) ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ของกลุ่มบริกส์ ที่ปราศจาก
การครอบงำของสหรัฐอเมริกา สามารถเป็นแหล่งเงินกู้ทางเลือกให้อียิปต์ได้ โดยตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2558 ธนาคารฯ ได้อนุมัติกว่า 90 โครงการ เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเงิน 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
5) ภาคเอกชนอียิปต์ให้การสนับสนุนการร่วมกลุ่มบริกส์ โดย Federation of Industries เห็นว่า BRICS plus จะนำไปสู่การค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ที่ใช้สกุลเงินที่หลากหลาย มิใช่จำกัดเฉพาะดอลลาร์สหรัฐซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินปอนด์ ขณะที่ Egyptain Businessmen’s Association เห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับอียิปต์ใน 4 ด้าน ได้แก่ กระชับความสัมพันธ์กับกลุ่ม บริกส์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพิ่มการค้าระหว่างบริกส์-อียิปต์ ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (ที่มา “Egypt joins BRICS in bid to boost trade, investment” ใน Daily News ฉบับวันที่ 27 สิงหาคม 2566)
ความท้าทาย อียิปต์จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตนโดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่อาจทำให้อียิปต์ขาดดุลการค้ากับกลุ่มบริกส์มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน อียิปต์ยังคงพึ่งพาการนำเข้าเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2565 การนำเข้าสินค้าจากกลุ่มบริกส์มายังอียิปต์ มีมูลค่า 26.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การส่งออกสินค้าจากอียิปต์ไปยังกลุ่มบริกส์ มีมูลค่า 4.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา “Maait unveils reasons regarding Egypt’s request to join BRICS” ใน State Information Service) อีกทั้งอียิปต์จะต้องขยายฐานรายได้ให้หลากหลายมากขึ้น มิใช่กระจุกตัวอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยว เงินโอนจากต่างประเทศ (Remittance) และค่าธรรมเนียมผ่านคลองสุเอซ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับภาคเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน เศรษฐกิจอียิปต์ยังอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยมีปัจจัยบ่งชี้สำคัญ ได้แก่ (1) ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ คือประมาณร้อยละ 35 และมีแนวโน้มจะสูงคงที่ต่อไป (2) สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ได้ส่งผลกระทบต่ออียิปต์อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอียิปต์นำเข้าข้าวสาลีมากที่สุดในโลกและต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวสาลีจากทั้งสองประเทศ ร้อยละ 80 (3) หนี้สาธารณะอียิปต์เพิ่มขึ้น 4 เท่า ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน อยู่ในระดับร้อยละ 92.9 ของ GDP (4) ค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่าลงกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับปี 2565 และ (5) ภาวะการขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐของอียิปต์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้อียิปต์ใช้ความพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกกลุ่มบริกส์ โดยเฉพาะจีน รัสเซีย และอินเดีย ด้วยหวังว่ากลุ่มบริกส์จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยอียิปต์ในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวได้บ้าง โดยเฉพาะการใช้เงินสกุลทางเลือกแทนดอลลาร์สหรัฐ ในการทำการค้าระหว่างสมาชิก การเข้าถึงสินค้ายุทธศาสตร์ และแหล่งเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ของบริกส์
——————————————–
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)