หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > กลยุทธ์การ Co-Branding HEYTEA X FENDI สร้างแบรนด์ชารูปแบบใหม่

กลยุทธ์การ Co-Branding HEYTEA X FENDI สร้างแบรนด์ชารูปแบบใหม่

ระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม ถึง 16 มิถุนายน 2566  แบรนด์ HEYTEA (https://www.heytea.com/) และ แบรนด์ FENDI (https://www.fendi.cn/) ได้ร่วมงานจัดงานนิทรรศการห้องชาในชื่อว่า FENDI’ hand in hand ณ The TempleHotel ในกรุงปักกิ่ง โดยภายในห้องชามีการแนะนำเมนูเครื่องดื่มชาในชื่อ FENDI LITSE BLEND ที่มีส่วนผสมของตะไคร้ต้น (Litsea)1 นอกจากนี้ ยังมีขนมหวานอย่าง เอแคลร์ ขนมปัง เค้ก และ เค้กโรล ซึ่งเบเกอรี่ทุกชนิดมีการประทับตรา “FF” ของแบรนด์ FENDI อีกด้วย

ตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ร้านเครื่องดื่ม HEYTEA ในประเทศจีน ได้เปิดตัวเครื่องดื่มใหม่ “FENDI Delight Yellow” โดยจำหน่ายในราคาที่ผู้คนทั่วไปสามารถจับต้องได้ ในราคาแก้วละ 19 หยวน หลังจากการเปิดตัวใหม่ผลิตภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์ได้สร้างความฮือฮาจากชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ไม่น้อย โดยชาวเน็ตหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “ความหรูหราครั้งแรกในชีวิตเกิดขึ้นแล้ว” ซื้อเครื่องดื่ม HEYTEA ได้กระเป๋าแบรนด์ FENDI ราคาถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งดึงดูดและกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น

ก่อนหน้านี้ แบรนด์ HEYTEA ได้จับมือร่วมกับซีรี่ย์ดังแนวชุดโบราณเรื่อง A Dream of Splendor (梦华录) โดยใช้ฉากในภาพยนต์โปรโมทแบรนด์สินค้าที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการดื่มชาแบบดั่งเดิม โดยในวันที่เปิดตัวสินค้าสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 300,000 แก้ว และยอดขายทะลุถึง 1.4 ล้านแก้วภายในหนึ่งสัปดาห์  ทำลายสถิติยอดขายในการร่วมแบรนด์ (Co-Branding) ของแบรนด์ทั้งหมดในช่วงก่อนหน้า แบรนด์ HEYTEA สร้างกลยุทธ์ โดยการปลูกฝังและสร้างนิสัยการบริโภคของผู้คนผ่านทางพลังของเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ โดยผู้บริโภคของแบรนด์มากร้อยละ 50 เลือกจะสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ในปี 2565 แบรนด์ HEYTEA มีสมาชิกลูกค้าบน Wechat Mini Program กว่า 63 ล้านคน และมีลูกค้าสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น 13 ล้านคนภายในหนึ่งปี

การร่วมงานกับแบรนด์หรูอย่าง FENDI  ของแบรนด์ HEYTEA ในครั้งนี้ ได้สร้างความฮือฮาให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์ร่วมออกมาในรูปแบบเครื่องดื่ม ในราคาแก้วละ 19 หยวน หากซื้อ 2 แก้วขึ้นไปจะได้รับกระเป๋าที่มีโลโก้ของแบรนด์ FENDI กระเป๋าแท้ของแบรนด์มีอิทธิผลต่อการสร้างแรงจูงต่อผู้บริโภค แต่การซื้อชานมในราคา 19 หยวนเพียง 2 แก้ว ก็สามารถถือกระเป๋าที่ถูกที่สุดของแบรนด์ FENDI ได้ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะ “ต่อสู้” เพื่อได้สินค้ามาครอง นอกจากนี้ หัวข้อที่พูดถึงมากบน Weibo กล่าวว่า การร่วมแบรนด์ HEYTEA FENDI ทำให้ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ภาพลักษณ์แบรนด์ถูกยกระดับให้เป็นชา “High end”

สำหรับแบรนด์ใหม่ที่ต้องการสร้างการรับรู้กับลูกค้าใหม่ การเลือก IP ที่เหมาะสม จะเป็นการเชื่อมโยงการตลาดบนโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง การร่วมมือกับแบรนด์ดังหรือสร้างความแปลกให้ยิ่งขึ้น โดยการร่วมมือกับแบรนด์ข้ามอุตสาหกรรม จะเป็นอีกตัวเลือกสําหรับแบรนด์ในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้หันมาสนใจสินค้ายิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก iiMedia Research แสดงให้เห็นว่า ขนาดของตลาดชารูปแบบใหม่ของจีนอยู่ที่ 293,850 ล้านหยวน ด้วยการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ทำให้การช็อปปิ้งออนไลน์และการชำระเงินออนไลน์สะดวกยิ่งขึ้น และยังช่วยลดการสูญเสียจากผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เป็นอย่างมาก อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น ปัจจุบัน หลายองค์กรในประเทศยังคงมีการคิดค้น และพัฒนาเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ให้มีความหลากหลาย ส่งเสริมและกระตุ้นการยอมรับในการบริโภคเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ของผู้คนอย่างต่อเนื่อง หลังจากการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด การบริโภคของผู้คนจะค่อยๆ ฟื้นตัว คาดว่าในปี 2568 ขนาดของตลาดชารูปแบบใหม่ของจีนจะสูงถึง 374,930 ล้านหยวน

          ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : การสร้างแบรนด์ธุรกิจจำเป็นต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี ประเทศจีนมีสินค้าและการแข่งขันทางการตลาดที่เข้มข้น การสร้างสิ่งที่แตกต่างให้กับแบรนด์และสินค้าจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างมาก แนวคิดสร้างแบรนด์ร่วมของ HEYTEA และ FENDI เป็นกลยุทธ์การตลาดหนึ่ง ที่สามารถสร้างข้อได้เปรียบและโอกาสในการแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น การ Co-branding เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ที่สามารถสร้างผลกระทบเชื่อมโยงกันระหว่างกลยุทธ์ทางการตลาดและธุรกิจของทั้งสองฝ่าย ผ่านการรวมแรงขาย ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแบรนด์ที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกัน ก็สร้างมารถสร้างความน่าเชื่อถือในกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่รู้จักแบรนด์การที่จะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจอาจจะต้องเริ่มที่การสะสมข้อมูลความเคลื่อนไหวของตลาด การเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา

หมายเหตุ 1ตะไคร้ต้น (Litsea cubeba Pers.) ตะไคร้ภูเขาหรือตะไคร้ดอย เป็นพืชที่มีกลิ่นผสมผสานระหว่าง ตะไคร้ มะนาว และใบมะกรูด กลิ่นหอมสดชื่น มีรสเผ็ดซ่า สามารถเจริญเติบโตได้ทั่วเอเชีย มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นสูง 5-8 เมตร เจริญเติบโตได้ดีที่ระดับความสูง 700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ดอกมีสีเหลือง ผลขนาดเล็ก 0.8-0.9 เซนติเมตร มีลักษณะผลกลมสีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีม่วงเข้ม ผลแก่ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม (ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง องค์กรมหาชน (hrdi.or.th)

https://www.iimedia.cn/c1040/93261.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

26 พฤษภาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login