การตั้งชื่อสินค้าเป็นกลยุทธ์การตลาดสำคัญของบริษัทชั้นนำในญี่ปุ่น โดยชื่อที่สื่อความหมายชัดเจน และเข้าใจง่าย ช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัท Ishokudougen.com ผู้ผลิตทิชชู่เปียกแบบใช้แล้วทิ้งมีผิวสัมผัสนุ่มคล้ายผ้าขนหนู เดิมจำหน่ายภายใต้ชื่อ “Disposable Nonpaper Towel” สื่อถึงความอเนกประสงค์ของสินค้า โดยวางจำหน่ายในหลายแผนก ตั้งแต่แผนกอุปกรณ์ทำความสะอาดห้องครัว ไปจนถึงอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุ ต่อมา ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค พบว่า ส่วนใหญ่นิยมใช้ทิชชู่เปียกในการประทินผิว จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Itsudemo Kirei Face Towel” หรือทิชชู่เปียกสำหรับใบหน้าเพื่อ “ความสวย และสะอาดทุกเวลา” ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายต่อเดือนเพิ่มจาก 55,000 ชิ้น เป็น 83,000 ชิ้นทันทีจากนั้น ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเพื่อสร้างภาพจำให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ทิชชู่เปียกที่แยกประโยชน์การใช้งานเฉพาะ ภายใต้ชื่อ “Nanoni” (แปล: สำหรับ) เป็น Nanoni Face Towel ซึ่งการเปลี่ยนชื่อ และการจำแนกผลิตภัณฑ์สำหรับใช้เฉพาะด้านดังกล่าว ได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้การจำหน่ายเพิ่มขึ้น
บริษัท Okamoto ผู้ผลิตถุงเท้าให้ความอบอุ่น เดิมใช้ชื่อ “Socks to Warm Saninko” ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความหมาย เนื่องจาก “Saninko” เป็นคำศัพท์เฉพาะ หมายถึง เส้นเลือดสำคัญ ตามศาสตร์การแพทย์แผนตะวันออก ซึ่งเมื่อบริเวณนี้อบอุ่นจะกระจายความอุ่นทั่วเท้า ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น “Marude Kotatsu Socks ” หรือ “ถุงเท้าที่ใส่แล้วเหมือนอยู่ในโคทัตสึ” (โต๊ะทำความร้อนแบบญี่ปุ่น) และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายไปยังร้านทั่วไป จากเดิมที่วางเฉพาะ ในร้านขายถุงเท้า ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 17 เท่าภายใน 1 ปี ปัจจุบัน Okamoto มีการจำหน่ายมากกว่า 700,000 คู่
ที่มา : https://www.nikkei.com/article/DGXZQOCD161AS0W4A011C2000000/
https://www.ishokudogen.com/product/face-towel/
https://shop.okamotogroup.com/
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา
อ่านข่าวฉบับเต็ม : กลยุทธ์การตั้งชื่อสินค้าของญี่ปุ่น