หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามลงนาม MoU กับหน่วยงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดของจีน

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามลงนาม MoU กับหน่วยงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดของจีน

ภายใต้กรอบการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี    ฟาม มินห์ ชินห์ (Pham Minh Chinh) และคณะผู้แทนระดับสูงของเวียดนาม นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศได้เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามและสำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ (State Administration for Market Regulation – SAMR) ของจีน ในการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การรับรองความปลอดภัยของอาหารและผู้บริโภค การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมความร่วมมือในด้านการจัดการตลาด

ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 พิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการสำหรับนายกรัฐมนตรี ฟาม มินห์ ชินห์ และคณะผู้แทนระดับสูงของเวียดนามที่เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในกรุงปักกิ่ง กับ นาย Li Qiang นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนให้การต้อนรับ  ซึ่งเป็นการเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มินห์ ชินห์ และเป็นการเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีเวียดนามในรอบ 7 ปี

การเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มินห์ ชินห์ เกิดขึ้นในบริบทความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เวียดนาม – จีนมีแนวโน้มการพัฒนาและบรรลุผลในเชิงบวก ความไว้วางใจทางการเมืองระหว่างเวียดนามและจีนเพิ่มขึ้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนยังคงเติบโต

ภายในการเยือน นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศได้เข้าร่วมเป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามกับสำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐของจีน โดยวัตถุประสงค์หลักของ MOU คือการสร้างกรอบความร่วมมือโดยรวมระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย โดยปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายในประเทศที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งและพัฒนาความร่วมมือในด้านการจัดการตลาด โดยข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามและหน่วยงานกำกับดูแลตลาดและการบริหารทั่วไปของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะขึ้นอยู่กับหลักการและวัตถุประสงค์ ทั้ง 2 ฝ่ายจะสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยสำหรับกิจกรรมความร่วมมือ ในด้านการจัดการตลาดโดยเฉพาะการป้องกัน และการบริหารจัดการการละเมิดกฎหมายว่าด้วยการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ความปลอดภัยของอาหาร การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม หน่วยงานบริหารจัดการตลาดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุดศูนย์กลางในการดำเนินการตาม MoU ในขณะที่ฝ่ายจีนคือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ฝ่ายบริหารทั่วไป และ การกำกับดูแลตลาดของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในทุกปี ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือตามขั้นตอนทางกฎหมายและข้อบังคับของแต่ละประเทศและลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการเน้นประเด็นต่างๆ เช่น การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์วิชาชีพและประเด็นต่างๆ ทวิภาคีในด้านการจัดการตลาด ความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพวิชาชีพประจำสำหรับข้าราชการฝ่ายปกครอง การแลกเปลี่ยนเอกสารทางกฎหมายอื่นๆ

(จาก https://vietnamnews.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

จีนเป็นคู่ค้าสำคัญของเวียดนาม ในสภาวการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายกำลังพัฒนาเป็นไปในทางที่ดี รวมถึงการตั้งใจของทั้งสองฝ่ายในการอำนวยความสะดวกในการส่งเสริมการค้า จะช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมากขึ้น เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ในปี 2565 มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างเวียดนามและจีนมีมูลค่า 1.75 แสนล้านเหรียนสหรัฐฯ เนื่องด้วยการค้าระหว่าง 2 ประเทศมีการเติบโตเป็นอย่างมาก ด้วยการดุลการค้า เวียดนามเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีน เนื่องจากเวียดนามต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35 ของการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของเวียดนาม นอกจากนี้ การค้าชายแดนระหว่างเวียดนาม-จีนเป็นอีกช่องทางการค้าที่สำคัญระหว่างกัน เนื่องจากเวียดนามมีพรมแดนทางบกติดต่อกับสองมณฑลสำคัญของจีน ได้แก่ มณฑลยูนนานและกวางสี  จึงมีส่วนเอื้อให้การค้าชายแดนเวียดนาม-จีนขยายตัวมากขึ้นด้วย  สำหรับด่านการค้าชายแดนเวียดนาม-จีน ที่สำคัญ ได้แก่ ด่านม่องก๋าย Mong Cai (เวียดนาม) ตงซิง Dongxing (จีนกวางสี) และด่านด่งด่าง Dong Dang (เวียดนาม) ผิงเสียง Pingxing (จีนกวางสี) ซึ่งการลงนาม MoU ระหว่างเวียดนามกับจีนจะส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การรับรองความปลอดภัยของอาหารและผู้บริโภค การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการจัดการตลาดเป็นอย่างมาก

Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้นโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าในทางใด- สคต.ฮานอย

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login