หน้าแรกTrade insightทุเรียน > กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC)

กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC)

        กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) เป็นเวทีความร่วมมือสำคัญระดับอนุภูมิภาครูปแบบใหม่ (กรอบความร่วมมือ MLC เป็นกรอบรูปแบบใหม่ เนื่องจากมีลักษณะที่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบกับกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขงอื่นๆ ได้ดังนี้ 1) กรอบความร่วมมือ MLC ได้รับการเสนอและออกแบบตามสภาพการพัฒนาของ 6 ประเทศสมาชิก และสอดคล้องกับความต้องการร่วมกันของประเทศสมาชิก 2) กรอบความร่วมมือ MLC ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ โดยลดขั้นตอนและการประชุมที่ไม่จำเป็น เพื่อมุ่งมั่นที่จะนำผลงานที่เป็นรูปธรรมมาสู่การพัฒนาอนุภูมิภาคผ่านการดำเนินโครงการ 3) ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกได้ครอบคลุมด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเอื้อต่อการเชื่อมโยงประชาคมอาเซียนอย่างครอบคลุมมากขึ้น 4) กรอบความร่วมมือ MLC ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะแทนที่กรอบความร่วมมืออื่นๆ ของแม่น้ำโขงที่มีอยู่ แต่มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมและผลักดันซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของอนุภูมิภาค) ที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2558 โดยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ซึ่งกรอบความร่วมมือนี้มุ่งเน้นส่งเสริมความร่วมมือพันธมิตรระหว่าง 6 ประเทศสมาชิก เพื่อผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนระดับภูมิภาค เสริมสร้างประชาคมประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ.  2030 ที่สหประชาชาติตั้งเป้าไว้

        กรอบ MLC มีแนวทางความร่วมมือ 3 ด้านหลัก ได่แก่ 1) การเมืองและความมั่นคง 2) เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3) สังคมและวัฒนธรรม โดยมีทิศทางสำคัญ 5 ประการสำหรับความร่วมมือระหว่างกัน ได้แก่ 1) การพัฒนาความเชื่อมโยง 2) การสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน 3) การพัฒนาเศรษฐกิจข้ามพรมแดน 4) การสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ 5) การสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาความยากจน

        ตั้งแต่กรอบ MLC ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2558 สมาชิกทั้ง 6 ประเทศได้ขยายกรอบความร่วมมือด้านต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การป้องกันสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชน การพัฒนาที่ยั่งยืน และการแพทย์แผนโบราณ

        ทั้งนี้ ในปี 2565 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ มีมูลค่ากว่า 416.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนจาก 5 ประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 โดยเฉพาะทุเรียน รังนก ลำไย มะพร้าว และผลิตภัณฑ์เกษตรชนิดอื่นๆ สินค้าจากประเทศสมาชิกได้เข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

        นอกจากนี้ รถไฟจีน-ลาว ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงที่มีก้าวหน้าเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง

การดำเนินการของมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่งที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC)

        ในฐานะที่เป็นเมืองสำคัญทางจีนตะวันตกเฉียงใต้ มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งมีความสัมพันธ์และ   การแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การเปิดตัวของกรอบความร่วมมือ MLC มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งได้กระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความร่วมมือที่เป็นมิตรกับ 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่องในหลายๆ ด้าน เช่น การเกษตรสมัยใหม่ การคุ้มครองมรดกโลก การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การพัฒนาเมืองพี่เมืองน้องระดับนานาชาติ การศึกษา และวัฒนธรรม เป็นต้น

        มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งได้จัดการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือ MLC (Sichuan-Chongqing Region & Mekong Countries Sub-National Cooperation Forum) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่งกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยการประชุมฯ ดังกล่าวได้จัดขึ้นครั้งแรก ณ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 และครั้งที่ 2 กำลังจะจัดขึ้นที่นครฉงชิ่ง ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2566 ภายใต้ธีม “Nourished by the Same River, Jointly Build the Path to Prosperity” ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมการเชื่อมโยงและความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่งกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งจะเป็นการช่วยผลักดันมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในการสร้าง “เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง” และ New Western Land-Sea Corridor

        อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมครั้งแรกในปี 2565 มีผู้แทนระดับสูงของมณฑลเสฉวนและกระทรวงการต่างประเทศจีน รวมทั้งประเทศสมาชิกเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งนางสาววรมน สินสุวรรณ รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ เป็นตัวแทนฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ในโอกาสดังกล่าว ไทยได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงบทบาทที่แข็งขันของไทยซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง และได้ชื่นชมความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับจีนในกรอบ MLC นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) กับกรอบ MLC เพื่อเสริมสร้างการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ในถ้อยแถลงร่วมระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีน อันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป

        ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ของมณฑลเสฉวน  (Sichuan Integrative Medicine Hospital) กับวิทยาลัยนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์แห่งตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Medical University) กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมทั้งการเปิดวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยซีหัวที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต. 

        แม่โขง-แม่น้ำล้านช้าง ซึ่งมีต้นกำเนิดเดียวกันจากที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตในประเทศจีน เป็นที่รู้จักในชื่อ “แม่น้ำดานูบตะวันออก” ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของ “แม่น้ำสายเดียวที่เชื่อม 6 ประเทศ” แม่น้ำใหญ่สายนี้มีความยาวรวม 4,880 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงประชากรจำนวน 326 ล้านคนภายใน ลุ่มน้ำซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 800,000 ตารางกิโลเมตรใน 6 ประเทศสมาชิก ถือเป็นการเชื่อมโยงโดยธรรมชาติของทั้ง 6 ประเทศในการช่วยเหลือและพัฒนาร่วมกัน

        ในฐานะที่เป็นเมืองที่มีศักยภาพในจีนตะวันตก มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง ได้ดำเนินงานที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และร่วมผลักดันกรอบความร่วมมือ MLC ในการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ อาทิ China-Thailand (Sichuan) Eco-Agriculture Industrial Park ที่เปิดตัวในเมืองตูเจียงเอี้ยน นครเฉิงตู เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ซึ่งนับเป็นโครงการความร่วมมือที่สำคัญระหว่างภูมิภาคมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่งกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและมณฑลเสฉวนในด้านการปลูกพืชเกษตรกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การค้าและการลงทุนสินค้าเกษตร เทคโนโลยีการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ มณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง ยังมีการจัดการประชุมความร่วมมือด้านการศึกษา ด้านการคุ้มครองมรดกโลกกับประเทศลุ่มแม่โขงอีกด้วย คาดว่า    ในอนาคต มณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง จะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับประเทศสมาชิกลุ่มแม่โขง รวมทั้งจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการร่วมพัฒนากรอบความร่วมมือ MLC ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยิ่งขึ้นของประเทศสมาชิกต่อไป

————————————————–

https://www.scwsb.gov.cn/xwzx/zdxw/sldxw2/202211/t20221125_17745.html

http://www.lmcchina.org/2023-03/23/content_42305653.htm

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1774880249532446768&wfr=spider&for=pc

http://mt.sohu.com/20161223/n476792190.shtml

รูปแผนที่จาก www.cec.org.cn

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login