หน้าแรกTrade insightกุ้งขาวแวนนาไม > กรมประมง ย้ำชัด ไม่ละเลยฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ภายในปี 2566

กรมประมง ย้ำชัด ไม่ละเลยฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ภายในปี 2566

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงและเน้นย้ำเพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งและอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งของไทยทุกภาคส่วนได้รับทราบว่า กรมประมงให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของเกษตรกรเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยต้องมีการดำเนินการควบคู่กันทั้งด้านการที่เกษตรกรจะเลี้ยงกุ้งให้ได้ผลผลิตเต็มที่กับราคาที่จำหน่ายได้โดยไม่เสี่ยงภาวะขาดทุนเนื่องจากราคาตกต่ำ จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดทำ 2 มาตรการ คือ

1) มาตรการเรื่องราคาที่ผู้แปรรูปจะจัดซื้อจากเกษตรกร ต้องไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนโดยไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ 2) มาตรการฟื้นฟูศักยภาพการเลี้ยงของเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงจนมีผลผลิต 320,000 ตัน ในปี 2565 และ 400,000 ตัน ในปี 2566 เพื่อให้มีผลผลิตกุ้งเพื่อส่งออกได้อย่างมั่นคง

ทั้งนี้ ทั้ง 2 มาตรการได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ราคาที่โรงงานแปรรูปรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุน จนถึงปัจจุบันราคาที่เกษตรกรจำหน่ายกุ้งได้เฉลี่ยทุกขนาดสูงกว่าปีที่แล้ว 21-27% และราคาที่เกษตรกรจะจำหน่ายได้ยังคงมีแนวโน้มสดใสจนถึงสิ้นปี 2565

ส่วนด้านมาตรการฟื้นฟูศักยภาพการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงได้อย่างมั่นใจ กรมประมงได้กำหนดมาตรการที่สำคัญที่สุด คือ การแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาโรคกุ้งกับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์น้ำจากทุกสถาบันมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้แนวทางไปป้องกันและแก้ไขเรื่องโรคสัตว์น้ำที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 – 56 รวมทั้งการให้นักวิชาการประมงที่เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์น้ำลงพื้นที่ให้บริการ clinic โรคสัตว์น้ำในทุกพื้นที่

ด้านการปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พันธุ์กุ้งขาวสิชล 1 ของกรมประมง เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร ด้านการจัดการการเลี้ยงของเกษตรกรให้ได้ทุกจังหวัด ถอดบทเรียนของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จให้เป็นต้นแบบ ด้านการช่วยเหลือด้านเงินทุนเพื่อปรับโครงสร้าง และแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้ง กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรกำลังเสนอ ครม. เห็นชอบงบประมาณ 500 ล้านบาท และเสนอโครงการเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารกุ้งโดยใช้เงิน คชก. ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ใช้อาหารเลี้ยงกุ้งในราคาที่ถูกลง และที่สำคัญที่สุดคือการกำหนดให้ประมงจังหวัด 35 จังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบเต็มตัวในด้านการฟื้นฟูการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การที่มีผู้แทนภาคเกษตรกรเป็นห่วงและต้องการให้ความสำคัญกับสินค้ากุ้งเป็นวาระแห่งชาติโดยเสนอมาตรการหลาย ๆ อย่างซึ่งเป็นแนวทางที่กรมประมงได้ตั้งใจทำมาตลอด แต่ประเด็นหลักที่คัดค้านคือ การไม่ให้นำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียด้วยความเป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบโดยได้ไม่คุ้มเสีย เช่น ผลกระทบราคากุ้งในประเทศ และอาจนำเชื้อโรคแฝงเข้ามา ซึ่งกรมประมง กับ Shrimp Board ได้ชี้แจงแนวทางไปอย่างชัดเจนแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับกลไกที่ได้จัดทำร่วมกัน ทั้งนี้หากผู้แทนภาคเกษตรกรกลุ่มใดที่ยังไม่เข้าใจขอให้ประสานข้อมูลกับผู้แทนภาคเกษตรกรที่เป็นผู้แทนใน Shrimp Board ย่อมได้รับความกระจ่างทั้งหมด

อุตสาหกรรมกุ้งของไทย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด การส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงได้มาก ๆ โดยที่ไม่มีโรงงานแปรรูปเหลืออยู่ในระบบเลยย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นตลอดห่วงโซ่การผลิตต้องมาปรึกษากันในลักษณะ Shrimp Board ที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งการมีมติออกมาทุกเรื่องเป็นฉันทามติ ไม่มีการยกมือลงคะแนน ดังนั้นที่ผ่านมากรมประมงจึงได้รับความไว้วางใจและได้รับความร่วมมือให้ดำเนินการตามแนวทางที่กล่าวถึง หากพิจารณาด้วยความเป็นธรรมจะเห็นว่าปัญหาเรื่องกุ้งราคาตกต่ำไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยตั้งแต่มี Shrimp Board ถึงแม้จะไม่มีการนำเข้ากุ้งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 – 9 มิถุนายน 2565 ส่วนการอนุมัติให้นำเข้ากุ้งจากทั้ง 2 ประเทศนั้น มีการกำหนดโควต้าไว้เมื่อถึงสิ้นปี 2565 ไม่เกิน 10,000 ตัน แต่ขณะนี้มีการนำเข้ากุ้งมาเพียง 41.95 ตัน เท่านั้น และการขออนุมัติต้องนำตัวเลขมาเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาร่วมกัน อธิบดีกรมประมงไม่สามารถอนุมัติโดยที่ Shrimp Board ไม่ทราบได้

กรมประมง หวังว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องกุ้งนี้จำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของใคร แต่เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ

ที่มา : มติชน

กรมประมง ย้ำชัด ไม่ละเลยฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ภายในปี 2566

Login