หน้าแรกTrade insightเคมีภัณฑ์และพลาสติก > กฎหมายบรรจุภัณฑ์ในเยอรมนี

กฎหมายบรรจุภัณฑ์ในเยอรมนี

นาง Steffi Lemke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันสาธรณรัฐเยอรมนี จากพรรคกรีนตั้งเป้าที่จะปรับปรุงกฎหมายบรรจุภัณฑ์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้บรรดาผู้ค้าปลีกและร้านอาหารขนาดใหญ่ต้องมีการมัดจำและรับขวดคืน ซึ่งได้ร่างกฎหมายนี้ได้รับการเห็นชอบจากหน่วยงานภายในของรัฐบาลตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โดยกฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อ “หลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ที่ฟุ่มเฟือยและส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ซึ่งเป็นประโยชน์ทางนิเวศวิทยา” ซึ่งอ้างอิงจากเอกสารนโยบายของกระทรวง นาง Lemke กล่าวว่า “เรากำลังดำเนินการตามเป้าหมายสำคัญของข้อตกลงความร่วมมือและกำลังขับเคลื่อนการหลีกเลี่ยงการสร้างของเสียอย่างต่อเนื่อง”

อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐ (Destatis) ปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในเยอรมนี ซึ่งส่วนใหญ่เก็บแยกจากขยะที่ตกค้างในถังขยะสีเหลือง ภาชนะแก้ว หรือกระดาษ มีการเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนถึง 6.5 ล้านตันในปี 2563

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมาย คำสั่งของสหภาพยุโรปหรือ EU Single-Use Plastics Directive จะถูกนำไปใช้ในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้ทำให้ประเทศสมาชิกต้องลดการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวบางประเภทลงอย่างมากภายในปี 2569 นาง Lemke กล่าวว่า “ขยะบรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นในเยอรมนีเป็นเวลาหลายปี สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความรำคาญให้กับผู้บริโภคส่วนใหญ่” กฎระเบียบใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ชีวิตประจำวันของประชาชนง่ายขึ้น

กฎหมายนี้ทำให้ผู้บริโภคจะทำให้วิถีชีวิตของผู้บริโภคสะดวกสบายมากขึ้นหรือไม่

ในแผนกเครื่องดื่มของซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการใช้ขวดที่สามารถใช้ซ้ำได้พร้อมกับขวดที่ใช้ครั้งเดียว โดยหลังจากช่วงเปลี่ยนผ่าน ซูเปอร์มาร์เก็ตและ Discounter แต่ละแห่งควรเสนอทางเลือกที่ใช้ซ้ำได้อย่างน้อยหนึ่งทางเลือกสำหรับเครื่องดื่ม จากการแถลงของนาง Lemke กฏหมายนี้จะมีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2568 นอกจากนี้ การมัดจำและการคืนขวดจะสามารถทำได้สำหรับเครื่องดื่มทุกประเภท เมื่อซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ขายมากกว่า 200 ตร.ม.

กระทรวงสิ่งแวดล้อมคาดหวังอะไรจากกฎหมายที่รัดกุมมากขึ้น

กระทรวงคาดหวังสองสิ่งจากกฎหมายบรรจุภัณฑ์นี้ ในด้านหนึ่งคือการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อ “บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และอีกด้านหนึ่งคือการลดลงของ Carbon Footprint ในการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงกับการซื้อกลับบ้าน

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ร้านอาหารที่บริการแบบซื้อกลับบ้านต้องมีการเสนอทางเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้สำหรับอาหารและเครื่องดื่มแบบนำกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ วิธีนี้ใช้กับบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้แล้วทิ้งที่ทำจากพลาสติกเท่านั้น โดยไม่ได้ใช้กับบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากอลูมิเนียมหรือกระดาษ เป็นต้น

ภาระหน้าที่นี้ขยายไปถึงบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงวัสดุ ในอนาคต ลูกค้าจึงควรมีสิทธิที่จะได้รับอาหารและเครื่องดื่มของตนในบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้เสมอ อ้างอิงตามการแถลงนี้  การดำเนินการดังกล่าวมีการวางแผนที่จะบังคับใช้ภายในต้นปี 2568

จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างกับการรับประทานในร้าน

ตั้งแต่ต้นปี 2568 ร้านอาหารจะไม่สามารถใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวอีกต่อไปสำหรับการบริโภคหรือรับประทานอาหารในร้าน ตัวอย่างเช่น ลูกค้าจะได้รับเบอร์เกอร์เพื่อรับประทานในร้าน บนจานหรือในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ แต่ยังมีการอนุโลมข้อบังคับนี้ให้กับผู้ให้บริการรายย่อย และอาหารบางประเภทเฟรนช์ ฟรายหรือเคบับ ที่จะยังสามารถบรรจุในถุงกระดาษได้

ท่าทีของสมาคมค้าปลีกแห่งเยอรมนีต่อกฏหมายบรรจุภัณฑ์ใหม่

สมาคมค้าปลีกแห่งเยอรมนี หรือ Handelsverband Deutschland (HDE) ได้แสดงออกถึงความกังวลอย่างชัดเจน โดยเห็นว่าความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายบรรจุภัณฑ์นี้ ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างมาก บางทีอาจจะต้องมีการปรับปรุงร้านขนานใหญ่ เพื่อที่จะรองรับการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใหม่ และการขนส่งต่างๆ อาจจะต้องมีการออกแบบใหม่ทั้งหมด นาง Antje Gerstein กล่าวว่า “ในระยะสั้น หากมีการบังคับใช้กฏหมายนี้ อุตสาหกรรมจะไม่สามารถตอบสนองได้” นอกจากนี้ เธอยังเห็นว่าความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันกฎหมายนี้ เป็นการกระทำที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากเยอรมนีกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาของกฎระเบียบด้านบรรจุภัณฑ์ของสหภาพยุโรปอยู่แล้ว การผลักดันกฏหมายนี้ในระดับประเทศจะทำให้เกิดความสับสนและบรรดาผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้

www.HANDELSBLATT.com

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login