หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ > “เศรษฐกิจและสังคม” ดันความเชื่อมั่นชายแดนใต้ปรับเพิ่มเล็กน้อย

“เศรษฐกิจและสังคม” ดันความเชื่อมั่นชายแดนใต้ปรับเพิ่มเล็กน้อย

“เศรษฐกิจและสังคม” ดันความเชื่อมั่นชายแดนใต้ปรับเพิ่มเล็กน้อย

                    นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ และนายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 3 ปี 2566 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 54.99 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 54.83 จากการปรับเพิ่มของความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจมาอยู่ที่ระดับ 55.46 จาก 55.10 และด้านสังคมมาอยู่ที่ระดับ 51.55 จาก 51.37 ขณะที่ด้านความมั่นคงปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 57.96 จาก 58.01 สาเหตุคาดว่ามาจากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาคการเกษตร เนื่องจากเป็นฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้ ประกอบกับความชัดเจนทางการเมือง นโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาภาระค่าครองชีพ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น 

                    หากพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า ประชาชนในจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นสูงสุด อยู่ที่ระดับ 60.55 เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงอยู่ในระดับสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจังหวัดอื่น ๆ รองลงมา ได้แก่ จังหวัดสงขลา (ระดับ 56.18) นราธิวาส (ระดับ 53.94) ปัตตานี (ระดับ 53.63) และยะลา (ระดับ 53.32) ตามลำดับ 

                    ผลการสำรวจปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เรื่องที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่า เป็นปัญหาภาระค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอ และปัญหายาเสพติด สอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐให้ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน สำหรับมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาครัฐ ประชาชนเกินครึ่งมีความเห็นว่าจะสามารถช่วยลดค่าครองชีพได้อย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 55.6) ลดแต่ไม่มีนัยสำคัญ (ร้อยละ 31.0) และไม่ช่วยลดเลย (ร้อยละ 13.4) ตามลำดับ

                    รองผอ.สนค. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์สำหรับการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้มีหลายโครงการและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดทำเครื่องชี้วัดดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประจำทุกไตรมาสจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายที่จะใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และสามารถใช้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

                    ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเพิ่มเติมว่า ศอ.บต. พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับคนที่ตกงานทั้งคนในพื้นที่และคนที่เดินทางกลับถิ่นฐาน รวมทั้ง ศอ.บต. ให้ความสำคัญกับปัญหาสินค้าเกษตร เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ร้านอาหารหรือกิจการโรงแรม/ที่พักต่างๆ มีผู้ใช้บริการจำนวนไม่มาก ส่งผลให้ความต้องการผลผลิตสินค้าเกษตรยังไม่มากพอที่จะทำให้ราคาผลผลิตเพิ่มขึ้นในระดับที่คาดหวังได้ จึงได้มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งได้ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันหาตลาดรองรับสินค้าเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรด้วย  

                    สำหรับในปี 2566 ศอ.บต. ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นอยู่ การเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิต การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ซึ่งการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่น และการสอบถามปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของประชาชนให้ตรงจุดและต่อยอดมากยิ่งขึ้นให้เกิดเป็นกิจกรรมพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม

******************************************

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login