การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติหารือเกี่ยวกับโอกาสในการเชื่อมโยงและขยายตลาดสำหรับการส่งออกของเวียดนามผ่านความร่วมมืออีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนกับ Amazon จัดขึ้นร่วมกันโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT)
งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้กรอบของ Vietnam International Sourcing 2023 โดยเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซและธุรกิจต่างๆ ได้หารือและแบ่งปันประสบการณ์ ช่วยให้ผู้ประกอบการเวียดนามและทรัพยากรมนุษย์รุ่นเยาว์ได้รับความรู้อย่างรวดเร็วและมีส่วนร่วมโดยตรง ในการแนะนำและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เวียดนามบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระดับโลก
นาย Ta Hoang Linh ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดยุโรป-อเมริกาภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญมากขึ้นของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในตลาดโลก โดยกล่าวว่า Amazon เป็นโมเดลอีคอมเมิร์ซสมัยใหม่และเป็นผู้ค้าปลีกชั้นนำระดับโลกที่มีประสบการณ์ในการเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคทั่วโลก
Amazon เป็นพันธมิตรกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ามาตั้งแต่ปี 2562 และเปิดโอกาสให้บริษัทเวียดนามจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการแนะนำผลิตภัณฑ์เวียดนามแก่ผู้บริโภคทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ทำให้ผู้ประกอบการเวียดนามได้รับความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ และมีโอกาสในการเข้าร่วมตลาดอีคอมเมิร์ซบน Amazon ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆ มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อนำผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของเวียดนามเข้ามาใกล้ผู้ซื้อทั่วโลกผ่านอีคอมเมิร์ซยิ่งขึ้น
นาย Gijae Seong ซีอีโอของ Amazon Global Selling Vietnam ระบุว่า การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจของเวียดนามมามในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันเป็นเวลาที่สมควรสำหรับเวียดนามที่จะส่งเสริมการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการประยุกต์ใช้อีคอมเมิร์ซในกิจกรรมการส่งออก
Amazon Global Selling Vietnam กำลังพยายามส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยให้ข้อมูลแก่ธุรกิจในภาคท้องถิ่นเกี่ยวกับการส่งออกออนไลน์ แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และวิธีการค้นหาและเชื่อมต่อกับซัพพลายเออร์ เพื่อเป็นโอกาสและเร่งการส่งออกอีคอมเมิร์ซแบบธุรกิจถึงลูกค้า
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระบุว่า เวียดนามกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและอุปทานระดับโลก โดยมีความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากลในราคาที่แข่งขันได้
การส่งออกค้าปลีกอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ของเวียดนามมีมูลค่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่สำคัญของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในการเติบโตของการส่งออก
Amazon เข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกใน 200 ประเทศทั่วโลก ด้วยศูนย์ปฏิบัติและคัดแยกสินค้าเกือบ 300 แห่ง เครื่องบินขนส่งหลายสิบลำ พร้อมด้วยบริการและเครื่องมือที่สร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้ขายจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจของตนได้
คาดว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซค้าปลีกของเวียดนาม จะมีมูลค่าประมาณ 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 7.5 ของรายได้จากสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการทั้งหมดของประเทศ ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 20 ต่อปี เวียดนามได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่มีการเติบโตด้านอีคอมเมิร์ซอันดับต้นๆ ของโลก
(จาก https://vietnamnews.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
ในช่วงที่ผ่านมา อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้สร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดส่งออกได้สะดวกยิ่งขึ้น ในปี 2566 อีคอมเมิร์ซมีการขยายเติบโตและมีเสถียรภาพมากที่สุดในเวียดนาม ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2563 – 2565 และปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซไม่ได้เพียงแค่ขายสินค้าในประเทศเท่านั้น การซื้อขายคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเติบโตอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ยิ่งในช่วงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ยังเป็นอัตราเร่งการเข้าสู่ดิจิทัลออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ E-commerce ข้ามพรมแดน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสเติบโตสูงทำให้ภาคส่วนต่างมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เช่น โลจิสติกส์ และ การคลัง เป็นต้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหลายแห่งในเวียดนามได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนอีคอมเมิร์ซจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 เนื่องจากเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เติบโตได้เร็วขึ้น ผู้บริโภตเวียดนามใช้อินเทอร์เน็ตในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ประเภทสินค้าที่ซื้อทางออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องสำอาง (ร้อยละ 69) เครื่องใช้ในบ้าน (ร้อยละ 64) เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 51) เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ผู้บริโภคออนไลน์ในเวียดนามมากกว่าร้อยละ 57 ซื้อสินค้าจากร้านค้าต่างประเทศที่มีขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่นิยมในเวียดนามโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เหตุผลที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะมีราคาถูก คุณภาพสินค้าดี คาดว่าในปี 2566 ผู้บริโภคจะใช้จ่าย 180 เหรียญสหรัฐฯ ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และ 145 เหรียญสหรัฐฯ ในสินค้าอาหาร แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโดยรวมของภาคอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการเติบโตดังกล่าว เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนกำลังจะเติบโตถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ด้วยการพัฒนาอย่างมากในเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อีคอมเมิร์ซมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 อีคอมเมิร์ซได้กลายเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีอิทธิพลไปในประเทศและภูมิภาค ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาด ส่งออกสินค้ามายังเวียดนาม เนื่องจากสินค้าจากไทยได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม โดยผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาช่องทางการเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงต่างๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งครอบคลุมถึงการค้าข้ามพรมแดนผ่านช่องทาง e-Commerce ด้วยผู้ประกอบการที่ต้องการจำหน่ายสินค้ามายังเวียดนามผ่านช่องทาง e-Commerce ควรต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าสู่ตลาด
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)