สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปรับลดลง ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน โดยที่ผ่านมาสาธารณรัฐเช็กต้องเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยไปก่อนหน้านี้แล้วในช่วงปี 2566 ด้วยเหตุจากทั้งดีมานด์จากต่างประเทศที่ลดลง รวมไปถึงภาคครัวเรือนลดการบริโภค และการส่งออกที่ลดลง
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนปีนี้ ปรับลดลงประมาณร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2566 GDP ปรับลดลงประมาณ ร้อยละ 0.2
การบริโภคของครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศก็ปรับลดลงมาก เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง กลุ่มธุรกิจทั้งหลายต่างประสบปัญหาคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับลดลง ด้วยดีมานด์ของทั่วโลกลดลง ประเทศ่ที่พึ่งพาการส่งออกอย่างสาธารณรีฐเช็ก ได้รับผลกระทบจากดีมานด์ของตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้าสำคัญคือเยอรมนี ที่ได้รับผลกระทบจากดีมานด์ต่างประเทศที่ลดลง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สาธารณรัฐเช็กค่อนข้างมีความอ่อนไหวจากปัญหาวิกฤตพลังงาน และปัญหาการชะงักงันของ supply chain เนื่องจากการผลิตต้องอาศัยพลังงาน และอุตสาหกรรมการผลิตมีความสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเช็ก
ทั้งนี้ การที่อุตสาหกรรมการผลิตต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการขาด supply และต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิต การค้า การขนส่ง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของเช็กปัจจุบันในเดือนกันยายนยังอยู่ในระดับที่สูงมาก คือร้อยละ 6.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเยอรมนี โปแลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี
นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา สาธารณรัฐเช็ก ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในระดับที่สูงมากเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มสหภาพยุโรป ธนาคารชาติของเช็กคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของเช็กปีหน้า จะสูงขึ้นร้อยละ 3.4 มากกว่าค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่อยู่ในระดับร้อยละ 3.2
อย่างไรก็ดี ในปี 2567 ยังคงมีความหวังว่าเศรษฐกิจน่าปรับปรุงในทิศทางบวกได้ ด้วยปัจจัยบวก อาทิ การปรับขึ้นค่าจ้างและการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป ที่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มีตัวเลขการเติบโตร้อยละ 0.1
นายเซดเลอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสมาคมธนาคารเช็ก เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของเช็กเป็นผลมาจากการปรับขึ้นค่าจ้างตามไม่ทันกับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่นักลงทุนจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่าการยกเลิกการปรับขึ้นค่าจ้างทั้งระบบเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ
นายซีเซค ผู้บริหารสหภาพอุตสาหกรรมและการขนส่ง ได้เรียกร้องให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การปรับปรุงบรรยากกาศที่เอื้อต่อธุรกิจ การดำเนินการออกใบอนุญาตการทำงานให้ง่ายขึ้น และการยกเว้นภาษีสำหรับการวิจัยและพัฒนา และการเน้นส่งเสริมการการลงทุน
ข้อเสนอแนะ/แนวโน้ม/โอกาส/แนวทาง
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า การปรับปรุงอัตราค่าจ้างจะทำให้ครัวเรือนสามารถจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้น และด้วยภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง รวมไปถึงการฟื้นตัวของดีมานด์ในตลาดยุโรป น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้หลายฝ่ายมีความคาดหวังว่าในปี 2567 เศรษฐกิจเช็กน่าจะกระเตื้องขึ้นและ GDP เริ่มขยายตัวได้ ทั้งนี้ หากรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการด้านภาษี รวมไปถึงการกระตุ้นให้มีการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น น่าจะทำให้การบริโภคภายในประเทศเริ่มปรับปรุงดีขึ้นในปีหน้า
อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกในส่วนดีมานด์จากต่างประเทศ ยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและการค้าของทั่วโลก ด้วยปัจจุบันมีประเด็นความขัดแย้ง และสงคราม
ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิต และนำมาสู่ภาวะเงินเฟ้อขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการไทย ควรเตรียมวางแผนทั้งในเรื่องการผลิต การส่งเสริมการขาย รวมไปถึงแนวทางรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของดีมานด์และซัพพลายที่อาจเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการค้าทั่วโลกในเวลานี้
***************************************
ที่มา : Expat.cz, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก
ข่าว 30 ต.ค. – 3 พ.ย. 66
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)