หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > รายงานตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์

รายงานตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์

1. เกี่ยวกับนอร์เวย์
นอร์เวย์ตั้งอยู่ในแถบยุโรปตอนเหนือในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เป็นสมาชิกกลุ่ม EFTA (European Free Trade Association) มิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ใช้เงินสกุลโครนนอร์เวย์ ปัจจุบันมีประชากรรวม 5.57 ล้านคน ประชาชนมีรายได้สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประมาณ 668,400 โครนนอร์เวย์/คน/ปี (ประมาณ 61,757 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี)

2. ประวัติความเป็นมาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์
เดิมทีชาวนอร์เวย์ดื่มเบียร์และสุราเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในศตวรรษที่ 19 นอร์เวย์ประสบปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งใหญ่ จากกฎหมายเสรีนิยม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตส่งผลให้เกิดการรณรงค์ต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเกิดนโยบายที่เข้มงวดขึ้น หลังจากการลงประชามติด้านการจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีคำสั่งห้ามการจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2464
ต่อมาในปี 2465 รัฐบาลจึงมีคำสั่งควบคุมตลาดแอลกอฮอล์ โดยการจัดตั้งบริษัทเอกชน Vinmonopolet เพื่อให้บริษัทนี้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต นำเข้า จำหน่าย ค้าส่ง และค้าปลีกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศนอร์เวย์ โดยปัจจุบัน Vinmonopolet มีสาขาประมาณ 345 แห่ง ทั่วนอร์เวย์
ภารกิจหลักของบริษัท Vinmonopolet คือ การป้องกันความเสียหายทางสังคมและส่วนบุคคลที่อาจเกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพื่อให้แน่ใจว่า บริษัทซัพพลายเออร์ต่างๆ สามารถเข้าถึงตลาดนอร์เวย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 รัฐบาลนอร์เวย์ได้ยกเลิกสิทธิการผูกขาดบางประการของรัฐในการนำเข้า ส่งออก และการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามข้อกำหนดของสนธิสัญญา EEA โดยจำกัดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาตรแอลกอฮอล์มากกว่า 4.75% โดย Vinmonopolet เท่านั้น สินค้าที่มีปริมาตรแอลกอฮอล์น้อยกว่า 4.75% สามารถจำหน่ายได้ในร้านค้าปลีกต่างๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร้าน Vinmonopolet มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 18,000 รายการ คิดเป็น 95% ของความต้องการการบริโภคในตลาดนอร์เวย์ทั้งหมด ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2545 ร้าน Vinmonopolet จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย
3. การนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนอร์เวย์
ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – กรกฎาคม) นอร์เวย์นำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวม 423 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -6.1% โดยนำเข้าจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน เป็นสำคัญ โดยไวน์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุด จำนวน 290 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8%
4. ช่องทางการจัดจำหน่าย
4.1 ช่องทางการค้าปลีก
1) เบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่า 4.75% สามารถจำหน่ายได้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
ทั้งนี้ บริษัทค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ (retail sector) ของนอร์เวย์ คือ บริษัท Norgesgruppen ASA ประกอบด้วยซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือกว่า 1,800 สาขา ได้แก่ Storcash (8 สาขา) ASKO (wholesaler มีคลังสินค้าจำนวน 13 แห่ง) SPAR (267 สาขา) EUROSPAR (27 สาขา) KIWI (690 สาขา) MENY (186 สาขา) Joker (470 สาขา) Nærbutikken (152 สาขา) และอื่นๆ ได้แก่ MIX, Jacob’s และ UNIL
2) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า 4.75% จะจำหน่ายผ่านบริษัท Vinmonopolet ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลผูกขาด

อย่างไรก็ดี แม้ภาษีนำเข้าจะอยู่ในระดับสูง แต่อุปสงค์และอุปทานของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
4.2 ช่องทาง HORECA
บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรม HORECA เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยบริษัทเหล่านี้จัดส่งสินค้าให้กับร้านอาหาร ร้านกาแฟ บาร์ โรงแรม และอื่นๆ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ในเมืองใหญ่ บริษัทในอุตสาหกรรมนี้ เช่น Scandic Hotels, Radisson Blu, Umoe Restaurants (ผู้บริหาร แฟรนไชส์ใหญ่ๆ Peppes Pizza, Starbucks, TGI Fridays และ Blender) และ Compass Group เป็นต้น

5. ภาษีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีรายละเอียด ดังนี้
5.1 ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
• เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 0.7% ถือว่าไม่มีแอลกอฮอล์
• เครื่องดื่มที่มีประมาณแอลกอฮอล์ 0.7 – 2.7%: เสียภาษี 3.40 โครนนอร์เวย์/ลิตร
• เครื่องดื่มที่มีประมาณแอลกอฮอล์ 2.7 – 3.7%: เสียภาษี 12.79 โครนนอร์เวย์/ลิตร
• เครื่องดื่มที่มีประมาณแอลกอฮอล์ 3.7 – 4.7%: เสียภาษี 22.15 โครนนอร์เวย์/ลิตร
• เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 4.7 – 22%: เสียภาษี 4.95 โครนนอร์เวย์/ลิตร
• เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 22 – 60%: เสียภาษี 8.45 โครนนอร์เวย์/ลิตร และต่อปริมาตรเปอร์เซ็นต์
5.2 ภาษีบรรจุภัณฑ์
• ภาษีบรรจุภัณฑ์พื้นฐาน 1.33 โครนนอร์เวย์/หน่วย
5.3 ภาษีสิ่งแวดล้อม
• 6.46 โครนนอร์เวย์ สำหรับบรรจุภัณฑ์แก้วและโลหะ
• 3.97 โครนนอร์เวย์ สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก
• 1.59 โครนนอร์เวย์ สำหรับบรรจุภัณฑ์กล่อง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอลดภาษีสิ่งแวดล้อมได้สูงสุดถึง 95% หากบรรจุภัณฑ์เหมาะสำหรับการรีไซเคิล
5.4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
• อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์ คือ 25%
6. ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็น
การส่งออกสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จากประเทศไทยไปยังตลาดนอร์เวย์มีทั้งความท้าทายและโอกาสที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาในแง่ของข้อเสนอแนะ โอกาส และความคิดเห็น ดังนี้:
6.1 ข้อเสนอแนะ
• การปรับกลยุทธ์การตลาด: ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์มีการควบคุมที่เข้มงวด ทั้งในด้านการจัดจำหน่ายและการบริโภค ดังนั้น การตลาดอาจมุ่งเน้นไปที่การแสดงถึงคุณภาพและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ เช่น การผลิตแบบดั้งเดิมหรือวัตถุดิบพิเศษ เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ
• การศึกษากฎระเบียบที่เข้มงวด: นอร์เวย์มีการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด โดยระบบการขายแบบผูกขาดผ่าน Vinmonopolet ซึ่งเป็นร้านค้าของรัฐบาล ดังนั้น การทำความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เป็นสิ่งสำคัญในการเข้าสู่ตลาดนี้
• พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย: เนื่องจากรสนิยมของผู้บริโภคในนอร์เวย์อาจแตกต่างจากประเทศไทย อาจพิจารณานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับตลาด เช่น เครื่องดื่มที่มีรสชาติใหม่ๆ หรือระดับแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคในนอร์เวย์
• การใช้กลยุทธ์ความยั่งยืน: ผู้บริโภคในนอร์เวย์ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน ดังนั้น การสื่อสารถึงการผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมหรือการใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืนจะเป็นข้อได้เปรียบในตลาดนี้

6.2 โอกาส
• ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง: นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากไทยที่มีราคาสูงหรือพรีเมียมสามารถทำตลาดได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีเรื่องราวหรือประวัติการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น เบียร์ไทยพื้นเมือง หรือสุราดั้งเดิมของไทย
• ความสนใจในวัฒนธรรมใหม่: ผู้บริโภคในนอร์เวย์มีความสนใจในวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ การส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของไทย เช่น สุราพื้นเมือง หรือเบียร์ที่ผลิตจากวัตถุดิบไทย จะสามารถสร้างความน่าสนใจและเป็นที่ต้องการในตลาด
• การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว: นอร์เวย์เป็นตลาดที่ผู้บริโภคมักเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ หากผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างประสบการณ์เชื่อมโยงระหว่างเครื่องดื่มไทยกับการท่องเที่ยว อาจช่วยสร้างความสนใจให้กับผู้บริโภคในนอร์เวย์มากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน
กันยายน 2567

อ่านข่าวฉบับเต็ม : รายงานตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในนอร์เวย์

Login