หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ร่วมมือส่งเสริมการทำธุรกรรมทวิภาคีให้ดียิ่งขึ้นโดยการใช้สกุลเงินท้องถิ่น

มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ร่วมมือส่งเสริมการทำธุรกรรมทวิภาคีให้ดียิ่งขึ้นโดยการใช้สกุลเงินท้องถิ่น

ที่มา : สำนักงาน New Straits Times

Bank Negara Malaysia (BNM), Bank Indonesia (BI) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand: BOT) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจทวิภาคี (MoUs) จำนวน 3 ฉบับ เพื่อกระชับความร่วมมือ
ในการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมทวิภาคี ซึ่งในแถลงการณ์ร่วม ธนาคารกลางดังกล่าวระบุว่า MoUs ครั้งนี้จะเป็นกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อชำระธุรกรรมทวิภาคีระหว่างกัน

เหตุการณ์การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน
และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central bank Governors’ Meeting: AFMGM) ที่จัดขึ้น ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ซึ่งธนาคารกลาง
ทั้ง 3 แห่ง มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการทำธุรกรรมทวิภาคี

ขณะนี้ ได้ขยายขอบเขตของกรอบการทำงานมากยิ่งขึ้นเพื่อรวมธุรกรรมข้ามพรมแดนที่มีสิทธิ์ นอกเหนือจากการค้าและการลงทุนโดยตรง ซึ่งจะทยอยนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยกรอบความร่วมมือใหม่นี้
ยังสอดรับกับความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินที่จะสนับสนุนการเข้าถึงการชำระธุรกรรมระหว่างกันด้วยเงินสกุลท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน เสริมสร้างเสถียรภาพของตลาดการเงินในภูมิภาค และกระชับตลาดสกุลเงินท้องถิ่นในทั้ง 3 ประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดย (MoUs) ในครั้งนี้ จะเข้ามาแทนที่ (MoUs) เกี่ยวกับกรอบการชำระหนี้ด้วยสกุลเงินท้องถิ่นที่ลงนามระหว่างธนาคารกลาง 3 แห่งเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2558 และ 23 ธ.ค. 2559

รายงานเสริมจากธนาคารแห่งประเทศไทย ความว่า บันทึกความเข้าใจทวิภาคี (MoUs) จะปฏิบัติผ่านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค (Regional Payment Connectivity: RPC)  ซึ่งสร้างขึ้น
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการชำระเงินระหว่างประเทศให้รวดเร็ว โปร่งใส อัตราที่ถูกและเข้าถึงผู้ใช้บริการได้มากขึ้น ทั้งนี้ ความร่วมมือนี้จะครอบคลุมการชำระเงินในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเชื่อมระบบ QR Code (Quick Response) โดย RPC จะทำให้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ไร้รอยต่อ เพื่อช่วยให้ประชาชนและนักธุรกิจทำธุรกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนได้สะดวกมากขึ้น

ความคิดเห็น สคต.

สคต. เล็งเห็นว่าความร่วมมือดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจในประเทศอาเซียนได้ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยระบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อ จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้า-ขายและการโอนเงินภายในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้ง การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมยังช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ระบบการชำระเงินดังกล่าวจะสามารถขยายไปยังประเทศใกล้เคียงและประเทศอื่น ๆ นอกกลุ่มอาเซียนในอนาคต ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้ามายังประเทศมาเลเซียควรศึกษาข้อมูลการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความสะดวกและความมั่นใจในการดำเนินการธุรกิจต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารกลางแห่งประเทศไทยและมาเลเซียได้จับมือร่วมกันในการเชื่อมการชำระเงินผ่านระบบ
QR Code ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ทำให้ผู้ใช้บัญชีธนาคารของมาเลเซียสามารถชำระเงินให้กับบัญชีนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับธนาคารพาณิชย์ของไทยได้อย่างสะดวก โดยสำนักงานฯ ได้สรุปข้อมูลการทำ QR Code ดังกล่าวผ่าน infographic ดังนี้

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login