“พาณิชย์” ถก MUJI ช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กับสินค้าท้องถิ่นของไทย
“พาณิชย์” ถก MUJI ผลักดันต่อยอดโครงการ Local specialties ช่วยนำสินค้าท้องถิ่นขายใน MUJI หลังนำร่องที่เชียงใหม่ และมีแผนขยายไปอุดรธานีและขอนแก่นแล้ว หวังเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กับสินค้าชุมชนของไทย พร้อมชวนเยี่ยมชมงาน STYLE Bangkok เพื่อคัดเลือกสินค้า
นายกองตรี พิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนาย Akihiro KAMOGARI Managing Director บริษัท Ryohin Keikaku (MUJI) ประเทศไทย และคณะว่า การหารือกับ MUJI ในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากการเยือนประเทศญี่ปุ่นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้มีการหารือกับนายโนบุโอะ โดมาเอะ ประธาน CEO และคณะผู้บริหารบริษัท MUJI โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กระทรวงพาณิชย์ ได้สานต่อความสัมพันธ์กับ MUJI มีแผนจัดกิจกรรม In-store Promotion ร่วมกันในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ณ ร้าน MUJI สาขากินซ่า ซึ่งเป็น flagship ของ MUJI มีลูกค้าเฉลี่ยวันละ 10,000 คน
การหารือในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้หารือเรื่องความเป็นไปได้ในการต่อยอดโมเดลโครงการ Local specialties (หรือโครงการส่งเสริมสินค้าของดี ของเด่น ของเหลือ ในพื้นที่มาต่อยอดหรือแปรรูปและจัดจำหน่ายผ่านสาขาในภูมิภาคนั้น ๆ เพื่อช่วยเพื่อช่องทางการจำหน่ายให้กับชุมชน) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่พร้อมหนุนศักยภาพ SMEs ในการขยายตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โครงการนี้ได้เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ และมีแผนที่จะต่อยอดไปที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดขอนแก่น โดยกระทรวงพาณิชย์มีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งสามารถให้ข้อมูล หรือหาพันธมิตรในท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าไทยได้ด้วย และยินดีแนะนำหน่วยภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย วิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมต่อยอดการพัฒนาและสินค้า และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับชุมชนต่อไป ซึ่งในอนาคตหวังว่าจะได้เห็นสินค้าไทยที่ได้รับการพัฒนาแล้วไปวางจำหน่ายยังร้าน MUJI ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ได้เชิญชวนให้ MUJI เยี่ยมชมงาน STYLE Bangkok ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งภายในงานที่โซน OTOP และโซน New Faces ซึ่งรวบรวมผู้ประกอบการไทยจากทั่วประเทศไทยมาร่วมจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น โดยเฉพาะงาน Craft หรืองานหัตถกรรม หาก MUJI สนใจผู้ประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ยินดีจะประสานจัด Business Matching ให้
สำหรับมูจิ (MUJI) หรือชื่อเต็ม ๆ “มูจิรุชิ เรียวฮิน” (Mujirushi Ryohin) เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า ไม่มีแบรนด์ (no brand) ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 โดยเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักแนวคิดของ ความเรียบง่าย ราคาไม่สูง แต่มีคุณภาพดี แม้ว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์มักจะถูกเชื่อมโยงไปสู่คำว่า Minimalist ในความเรียบง่ายที่สามารถตอบโจทย์การใช้ในชีวิตประจำวันและตัดฟังก์ชั่นที่ไม่จำเป็นทิ้งไป โดยสีหลักที่ใช้จะมีเพียงสีน้ำตาล ขาว ดำ เทา น้ำเงิน และสีเงิน และมักจะดีไซน์รูปลักษณ์ออกมาเป็น unisex ที่ใช้ได้ทุกเพศก็ตาม แต่ทางบริษัท MUJI ก็ได้แสดงจุดยืนว่าไม่ใช่สไตล์ มินิมอลแต่อย่างใด นอกจากนี้ MUJI ยังมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจโดยเน้นในเรื่องของความยั่งยืนตามแนวทางของนโยบาย ESG (Environment, Social, Governance) ขององค์การสหประชาชาติ โดยให้ความสำคัญกับการนำเศษเหลือกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะคำนึงถึงด้านการเลือกวัสดุ การตรวจสอบกระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์เป็นสำคัญอีกด้วย ปัจจุบัน MUJI มีสาขาทั่วโลกกว่า 1,000 แห่ง (มีสาขาในประเทศไทย 32 สาขา) มีสินค้ากว่า 7,000 รายการ (ในจำนวนเป็นสินค้าไทยในกลุ่มวัตถุดิบอาหาร ของใช้บนโต๊ะอาหาร และเสื้อผ้ารีไซเคิล) และมียอดขายทั่วโลก 121,000 ล้านบาท/ปี (กำไร 9,000 ล้านบาท) โดยปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทราว 100,000 ล้านบาท
*******************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
มกราคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : “พาณิชย์” ถก MUJI ช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กับสินค้าท้องถิ่นของไทย