เมื่อวันอังคารเมื่อ 17 ตุลาคม 2566 ธนาคารกลางอียิปต์ (Central Bank Of Egypt: CBE) ได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางการกับธนาคารพาณิชย์ให้จำกัดการใช้บัตรเครดิตของลูกค้าในการทำธุรกรรมการเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการแจ้งครั้งที่สองในรอบสัปดาห์
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา CBE ได้แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ระงับการใช้บัตรเดบิต (สกุลเงินปอนด์อียิปต์) ในการซื้อสินค้านอกประเทศ เพื่อหยุดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ และในสัปดาห์นี้ ได้ขยายผลให้ครอบคลุมบัตรเครดิตด้วยแล้ว ซึ่งเป็นคำสั่งอย่างไม่เป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่า นักเก็งกำไรบางคนใช้บัตรเหล่านี้ไปในทางที่ผิด สิ่งที่ CBE พบ คือ 70% ของการใช้บัตรเครดิตมาจากผู้คนในกรุงไคโรที่สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และขอวงเงินบัตรเครดิตสูงสุดเพื่อถอนเงินสดจากต่างประเทศโดยที่ไม่ได้มีการเดินทางจริง
ขณะนี้ ธุรกรรมการเงินในประเทศผ่านบัตร ได้ถูกจำกัดไว้ที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และในกรณีผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศ วงเงินเครดิตจะต้องถูกจำกัด ไม่ว่าจะเป็นจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือตามที่ธนาคารกำหนด โดยจะต้องแจ้งให้ธนาคารทราบล่วงหน้าก่อนเดินทาง
ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ
- อียิปต์ได้เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ (ดอลลาร์สหรัฐ) อย่างรุนแรงในช่วงสองปีที่ผ่านมา และทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
- นอกจากนี้ อียิปต์ได้เผชิญกับวิกฤตค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่า (อ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา) และคาดการณ์ว่าจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดอยู่ที่ 40-41 ปอนด์อียิปต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ อัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการอยู่ที่ประมาณ 31 ปอนด์อียิปต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการรักษาค่าเงินปอนด์อียิปต์ของตนให้คงที่ โดยเฉพาะการตรึงค่าเงินไว้ที่ 31 ปอนด์อียิปต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ การประวิงเวลาในการประกาศปล่อยค่าเงินปอนด์อียิปต์ให้ลอยตัวตามเงื่อนไขเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมถึงการควบคุมการไหลออกของดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า ความพยายามดังกล่าวมิได้ช่วยอียิปต์ แต่ยิ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวรุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมเรียกร้องให้อียิปต์ปล่อยค่าเงินปอนด์อียิปต์ลอยตัว แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวจะส่งผลกระทบในวงกว้างในระยะแรก แต่ในระยะยาว จะส่งผลดีต่ออียิปต์ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ส่งเสริมการส่งออก ลดการขาดดุล และปกป้องเศรษฐกิจอียิปต์จากผลกระทบภายนอกได้ดียิ่งขึ้น
- ความพยายามดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลกระทบต่อการทวทวนการดำเนินการตามเงื่อนไขเงินกู้จาก IMF ที่ปล่อยให้แก่อียิปต์เมื่อปีที่ผ่านมา โดยการทบทวนครั้งที่ 1 และ 2 ได้กำหนดจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมและสิงหาคม 2566 แต่ต้องเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไข โดยเฉพาะการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น (การปล่อยเงินปอนด์อียิปต์ให้ลอยตัว)
- ปัจจุบัน นอกเหนือจากวิกฤตค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่าและภาวะการขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐอย่างรุนแรงแล้ว อียิปต์กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจหลายประการ เช่น ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงสูงสุดในประวัติการ (เกือบร้อยละ 40) การดุลการชำระเงิน ภาระหนี้สาธารณะสูงกว่าร้อยละ 92 ของจีดีพี และราคาอาหารและพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากสงคราม โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทำให้ราคาสินค้าจำเป็นสูงขึ้น และสงครามในอิสราเอล ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคในภาพรวมลดลง
- ที่ผ่านมา ภาวะการขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐของอียิปต์ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก CBE พยายามควบคุมการไหลออกของดอลลาร์สหรัฐในทุกวิถีทาง รวมถึงการรวมศูนย์อำนาจในการพิจารณาอนุมัติชำระค่าสินค้านำเข้าในทุก shipment (แม้ว่าจะเปิด L/C แล้วก็ตาม) ส่งผลให้การพิจารณาอนุมัติชำระค่าสินค้านำเข้าล่าช้า ทำให้ต้องเสียค่า demurrage และเสียเวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น ซึ่งบางรายใช้เวลาเกือบ 1 ปี ในการรอพิจารณา
- มาตรการควบคุมการใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตในการชำระเงินต่างประเทศของธนาคารกลางอียิปต์ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะการขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐของอียิปต์ได้เข้าสู่ขั้น “วิกฤต” แล้ว ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการทำการค้ากับอียิปต์ โดยเฉพาะการพิจารณาเทอมการค้าที่เหมาะสม การพิจารณาขอรับค่ามัดจำเต็มจำนวนหรือเพิ่มจำนวนมัดจำให้สูงขึ้น รวมทั้งการพิจารณาช่องทางการชำระเงินทางเลือก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว
——————————————–
ที่มา :
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)