หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ความตกต่ำรุนแรงของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบการค้าสินค้าหลายรายการ

ความตกต่ำรุนแรงของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบการค้าสินค้าหลายรายการ

การสำรวจ Markets Live Pulse ครั้งล่าสุดของ Bloomberg พบว่า อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯอยู่ในสภาวะตกต่ำอย่างมากและดำเนินอยู่ต่อเนื่องมานานตั้งแต่หลังวิกฤต COVID-19 คาดว่าความตกต่ำจะดำเนินต่อไปอีกอย่างน้อย 9 เดือนและจะตกต่ำถึงจุดสูงสุดภายในกลางปี 2024 เป็นอย่างเร็ว

 

Morgan Stanley รายงานสาเหตุที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯตกต่ำคือ การเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หนี้สินของภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญฯจะครบกำหนดจ่ายชำระคืนก่อนสิ้นปี 2025 การทำรีไฟแนนซ์อาจไม่ใช่เรื่องง่ายในปัจจุบันเนื่องร้อยละ 30 ของหนี้เป็นของธุรกิจตึกสำนักงานให้เช่าที่ส่วนใหญ่อยู่ในมือของสถาบันการเงินที่กำลังประสบปัญหาการเงินเช่นกัน ที่ปัจจุบันขาดสภาพคล่องและความสามารถที่จะเข้ามาปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจตึกสำนักงานให้เช่า

 

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งสืบเนื่องจากประมาณร้อยละ 25 ของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯเป็นภาคตึกสำนักงานให้เช่าเป็นที่ตั้งสำนักงานซึ่งกำลังอยู่ในสภาวะตกต่ำสุดขีด ผู้เช่าพื้นที่เพื่อใช้เป็นสำนักงานหลายรายขอลดจำนวนพื้นที่เช่าหรือขอย้ายออก เนื่องจากคนงานอเมริกันมีแนวโน้มที่จะขอทำงานที่บ้านหรือขอเพิ่มวันทำงานที่บ้านและลดการเดินทางเข้าไปทำงานในสำนักงาน ทำให้ปัจจุบันอัตราว่างของพื้นที่สำนักงานในสหรัฐฯพุ่งสูงมากกว่าปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงเกิดวิกฤตทางการเงินทั่วโลก พื้นที่สำหรับใช้เป็นสำนักงานในสหรัฐฯว่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2023 พื้นที่ว่างมีอัตราสูงทำสถิติที่ร้อยละ 16.4 เมืองที่มีอัตราว่างของพื้นที่สำนักงานมากที่สุดในสหรัฐฯคือ Houston, Indianapolis และ Greater Los Angeles

 

ที่มา:
• BNN Bloomberg: “Severe Crash Is Coming for US Office Properties, Investors Say”, by Scott Carpenter และ Sarah Holder, October 2, 2023
• Markets Insider: “US commercial-property crisis deepens with office vacancy rate topping 2008 highs to hit a new record”, by Zahra Tayeb, September 14, 2023

 

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น สคต ลอสแอนเจลิส
1. พฤติกรรมการทำงานของพนักงานสหรัฐนเปลี่ยนไป มีประมาณการณ์ว่าพนักงานในสหรัฐฯที่ทำงานเต็มเวลา (full time workers) ร้อยละ 12.7 ปัจจุบันทำงานในลักษณะ work from home และร้อยละ 28.2 ทำงานในลักษณะ hybrid คือ ผสมผสานสถานที่ทำงานโดยเลือกจะทำทั้งที่บ้านและที่สำนักงานตามที่ตนต้องการหรือตามข้อเสนอของบริษัท ภาครัฐและเอกชนรายใหญ่หลายรายในสหรัฐฯพยายามมาช่วงเวลาหนึ่งแล้วที่จะบังคับให้พนักงานละข้าราชการกลับเข้าไปทำงานในสำนักงาน อาจจะเป็นสามวันหรือสี่วันต่อหนึ่งสัปดาห์ น้อยรายที่จะบังคับให้พนักงานกลับไปทำงานทุกวัน ส่วนใหญ่ของพนักงานอเมริกันระบุว่า ถ้าสามารถเลือกได้ จะเลือกทำงานที่บ้านมากกว่าไปทำงานในสำนักงาน เกินกว่าครึ่งของพนักงานที่ถูกสำรวจ ระบุว่าถ้าเลือกทำงานที่บ้านไม่ได้ ก็เลือกที่จะลาออกไปทำงานที่อื่นที่เปิดโอกาสให้ทำ remote work ประเภทของธุรกิจที่มีแนวโน้มว่าพนักงานส่วนใหญ่นิยมที่จะทำงานแบบ remote work มากที่สุดในปี 2023 เรียงตามลำดับคือ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และ IT ธุรกิจการตลาด การบัญชีและการเงิน และการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ธุรกิจการแพทย์และการรักษาพยาบาล ธุรกิจการบริหารบุคคล (HR)และการแสวงหาแรงงาน (recruiting) และธุรกิจให้บริการลูกค้า (Customer Services) เมื่อพิจารณาว่า ปัจจุบันร้อยละ 16 ของธุรกิจในสหรัฐฯทำธุรกิจในลักษณะ fully remote โดยไม่มีการตั้งสำนักงานเหมือนในอดีต และที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่ของแรงงานวัยหนุ่มสาวของสหรัฐฯกลุ่ม Millennials และ Gen Z ชอบที่จะทำงานแบบ remote work ทำให้เชื่อได้ว่า การทำงานในลักษณะ remote work และแบบ hybrid (ผสมผสานเวลาทำงานทั้งที่บ้านและที่สำนักงาน) จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป คาดว่าภายในปี 2025 ร้อยละ 22 ของพนักงานอเมริกันจะทำงานแบบ remote work

 

2. พื้นที่สำหรับใช้เป็นสำนักงานเริ่มว่างลงตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เมืองใหญ่บนฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯประสบปัญหามากที่สุดในเรื่องการเพิ่มขึ้นของจำนวนพื้นที่สำนักงานที่ไม่มีคนเช่า สาเหตุสำคัญสูงสุดมาจากภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี่ชั้นสูงที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกสหรัฐฯลดจำนวนพนักงาน เมืองที่มีพื้นที่สำนักงานที่ไม่มีคนเช่ามากที่สุดในสหรัฐฯเรียงตาม 10 อันดับแรก ได้แก่ San Francisco, Midtown New York, Austin, Seattle, Salt Lake City, Downtown New York, Phoenix, Columbus, Raleigh-Durham และ Midtown New York นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า พื้นที่สำนักงานที่ถูกเช่าไปทำสำนักงาน หลายแห่งมีจำนวนพนักงานนั่งทำงานไม่เต็มที่พื้นที่

 

3. สคต ลอสแอนเจลิส มีความเห็นว่า การเติบโตของพฤติกรรมความต้องการที่จะเลือกทำงานนอกสำนักงานของพนักงานอเมริกันและสภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมให้เช่าพื้นที่ใช้เป็นสำนักงาน เป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อระดับความต้องการ สินค้าหลากหลายชนิด คือ

 

3.1 สินค้าเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้ในสำนักงาน (office furniture) ที่รวมถึง โต๊ะทำงาน โต๊ะประชุม เก้าอี้ ตู้เก็บเอกสาร ชั้นวางของ ที่นั่งสำหรับรับรองแขก เป็นต้น

3.2 สินค้าเครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงาน (office equipment) เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบการใช้ โทรศัพท์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ

 

3.3 สินค้าอุปทานสำหรับใช้ในสำนักงาน (office supplies) และของใช้จำเป็นอื่นๆในสำนักงาน (office accessories) เช่น กระดาษ เครื่องเขียน ซองเอกสาร อุปกรณ์ต่างๆสำหรับใช้ทำความสะอาด โคมไฟ พรม ของประดับตกแต่งสำนักงานหรือโต๊ะทำงานของพนักงาน หน้ากาก (face masks) และถุงมือ (disposable gloves) เป็นต้น

 

ความต้องการและการซื้อสินค้าข้างต้นของพนักงานที่ทำงานที่บ้านจะจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความต้องการและการซื้อของบริษัทธุรกิจเพื่อนำไปใช้ในสำนักงาน และจะมีลักษณะสินค้าที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องของขนาด วัตถุดิบ และคุณภาพ อย่างที่ไม่สามารถเทียบกันได้และไม่สามารถทดแทนกันได้ในตลาดการค้า และเนื่องจากการทำงานในลักษณะ remote work เป็นที่นิยมของแรงงานกลุ่ม Millennial และ Gen Z ที่กำลังจะกลายเป็นกลุ่มแรงงานหลักของสหรัฐฯในอนาคตอันใกล้ เงื่อนไขเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อที่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องได้

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส | ข่าวประจำสัปดาห์ 2 – 6 ตุลาคม 2566

 

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login