ตามรายงาน Gulf Investment Report 2023 เกี่ยวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ GCC ว่ามีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีพลวัตรสูง อาจเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (economic powerhouse) ของภูมิภาคตะวันออกกลางและของโลกด้วย โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ( GDP) ของสมาชิก 6 ประเทศเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากประมาณ 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2593
ปัจจุบัน GDP ของ กลุ่มประเทศ GCC มีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้ลงทุนในโครงการสีเขียวและยั่งยืน สนับสนุนโครงการการลงทุนสาธารณะขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและพลังงานหมุนเวียนให้ มากขึ้น เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์ และบาห์เรน
ในรายงานระบุในช่วง 15 ปีที่ผ่านมายูเออีได้ลงทุนมากกว่า 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในด้านพลังงานสะอาดและวางแผนที่จะลงทุนอีก 163.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในด้านพลังงานสะอาดและหมุนเวียนในอีก 30 ปีข้างหน้าเพื่อให้เกิดการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์
ตามรายงานการลงทุนโลกปี 2566 (World Investment Report 2023) ระบุว่ามูลค่าการไหลเวียนของ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งหมดที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาค GCC ปี 2565 ลดลงร้อยละ 17.91 สู่มูลค่า 37.12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเทียบกับปี 2564 ที่มีมูลค่า 45.22 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ยูเออีมูลค่า FDI เพิ่มขึ้นจาก 20.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 เป็น 22.73 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือขยายตัวร้อยละ 10 ในปี 2565 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 หุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน GCC มูลค่า 529.78 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีฉากหลังที่มูลค่าการไหลเวียนของ FDI ทั่วโลกลดลงร้อยละ 12 สู่มูลค่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2565
ใน GCC ยูเออีมีความโดดเด่นในแง่ของการดึงดูดการลงทุน มีการไหลเข้าของ FDI มูลค่า 22.73 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 หรือคิดเป็นร้อยละ 61.24 ของการไหลเข้า FDI ทั้งหมดที่ 37.12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯที่เข้าสู่ GCC ซึ่งตามรายงานการลงทุนโลกปี 2566 ระบุยูเออีอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกในโครงการลงทุนสีเขียว โดยมีจำนวนโครงการสูงถึง 997 โครงการในปีนี้
ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและบริการ (Strategy&) ว่าประเทศ GCC รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้สูงถึง 300 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หากพวกเขาดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อคว้าโอกาสในการกลายเป็นศูนย์กลางของ Global Value Chains (GVC) หรือห่วงโซ่มูลค่าโลก เชื่อมโยงทางการค้าภายในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น และการเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพการผลิต การลงทุน การจ้างงาน ซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
นาย Issam Abou Sleiman ผู้อำนวยการ World Bank ภูมิภาค MENA ให้ความเห็นว่า “GDP ของภูมิภาค GCC แตะระดับ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯแล้ว หากประเทศ GCC ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ GDP รวมของประเทศกลุ่มนี้จะเติบโตเป็น 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2593 อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์การเติบโตสีเขียวอาจทำให้ GDP ของ GCC เติบโตเป็น 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯภายในปี 2593 นอกจากนี้เศรษฐกิจ GCC นั้นเป็นจุดสว่างในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่มืดมน การเติบโตโดยเฉลี่ยในกลุ่ม GCC เกินกว่าร้อยละ 7.0 ในปี 2565 ที่นำโดยซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางและเติบโตเร็วที่สุดในโลก”
นาย Jasem Mohamed Albudaiwi เลขาธิการกลุ่มประเทศ GCC ให้ความเห็นว่าแม้เศรษฐกิจจะถูกรบกวน แต่ผู้กําหนดนโยบายของประเทศ GCC ก็ประสบความสําเร็จในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความ ท้าทายบางอย่าง GDP กลุ่ม GCC มีการเติบโตอย่างมากสูงถึงร้อยละ 7.3 ในปี 2565
ในขณะที่นักวิเคราะห์ของ Forex.com กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของ GCC ยังคงเป็นไปในทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พิจารณาการเติบโตในปัจจุบันและที่คาดการณ์ไว้ในภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรม เช่น การบริการ การค้าปลีก การเดินทางและการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ บริการทางการเงิน เทคโนโลยี และการดูแลสุขภาพ ทั้งยูเออีและซาอุดีอาระเบียมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยคาดว่าจะมีการขยายตัวของภาคส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันที่ร้อยละ 4.8 แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ประเทศ GCC อื่นๆ ก็แสดงแนวโน้มเชิงบวกเช่นกัน แม้ว่าการลดการผลิตน้ำมันอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในอนาคตก็ตาม
ความเห็นของ สคต.ดูไบ
แนวนโยบายที่หลายประเทศขานรับคือ การมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยดำเนินนโยบายรับมือกับความรุนแรงของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากวิกฤตโรคระบาดในช่วงสามปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากนโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรปที่มีมาตรการสำคัญคือ จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าบางประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ส่วนสหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายที่เป็นการผสานนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ผ่านการลงทุนในพลังงานสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ภาคธุรกิจของไทยจึงควรพัฒนาศักยภาพของตนให้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ การเรียนรู้เพื่อปรับตัวจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)