fbpx
จาก 'หุบเขาเม็ดทราย' สู่ 'เครือข่ายภูผาหยก': เมื่อจอมยุทธ์ไต้หวันใน Silicon Valley กลับบ้านเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่

จาก ‘หุบเขาเม็ดทราย’ สู่ ‘เครือข่ายภูผาหยก’: เมื่อจอมยุทธ์ไต้หวันใน Silicon Valley กลับบ้านเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่

ในช่วงปี 1965-1970 ไต้หวันประสบปัญหาสมองไหลออกอย่างรุนแรง นักศึกษาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำและมีฐานะทางเศรษฐกิจดี มักเลือกเรียนต่อในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนี้มีนักศึกษาส่วนน้อยเท่านั้นที่เลือกเดินทางกลับไต้หวัน จนกระทั่งในช่วงปี 1980 ไต้หวันเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในโครงสร้างเศรษฐกิจ และย่างก้าวสำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือการออกมาตรการดึงดูดผู้มีความสามารถสูง ‘กลับบ้าน’

การเดินทางสู่ ‘หุบเขาเม็ดทราย’ ในทศวรรษ 1965-1980

ในช่วงระหว่างปี 1965-1980 ไต้หวันมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กระนั้นก็ตาม ไต้หวันประสบกับปัญหาการสูญเสีย ‘ผู้มีความสามารถสูง’ (talents) ซึ่งผมขอเรียกอย่างลำลองว่า ‘จอมยุทธ์’ ออกไปต่างประเทศจำนวนมาก โดยแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรก นักศึกษาปริญญาโทและเอก Tzeng (2006) ประมาณการว่า ในช่วงระหว่างปี 1960-1980 ราว 40% ของผู้เรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน เช่น National Taiwan University and Tsinghua University ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยในจำนวนนั้น 95% เดินทางไปสหรัฐอเมริกา และ มีเพียง 18% เท่านั้นที่กลับไต้หวันในระหว่างปี 1971-1979 (Chang, 1992)

กลุ่มที่สอง – กลุ่มผู้ทำงานในสายวิทยาศาสตร์ วิศวกร และวิชาชีพเฉพาะด้าน รายงานขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ปี 1968 ได้เผยให้เห็นตัวเลขที่ช่วยอนุมานถึงความรุนแรงของปัญหานี้ โดยชี้ว่าระหว่างปี 1962-1967 มีชาวไต้หวัน 51,218 คน ย้ายถิ่นเข้าไปพำนักในสหรัฐอเมริกา ในจำนวนนี้ประกอบด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะ (professionals) และผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค (technicians) ราว 14% วิศวกร (engineers) ราว 3% ตามด้วยนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural scientists) หมอ และ พยาบาล (doctors and specialized nurses) รวมกันราว 2% (Chang, 1992, p. 28)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวมีอย่างน้อยสามประการ ได้แก่

ประการแรก ส่วนต่างรายได้ (income gap) ของแรงงานทักษะสูงในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าในไต้หวันราว 3-6 เท่าตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจภายในของไต้หวันช่วงก่อน 1980 ยังเน้นผลิตสินค้าแรงงานเข้มข้น มิได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและแรงงานฝีมือมากนัก

ประการที่สอง สหรัฐอเมริกามีการแก้ไข The Immigration and Nationality Act (the Hart–Celler Act) ในปี 1965 อนุญาตให้แรงงานในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน (และครอบครัว) ย้ายถิ่นเข้ามาพำนักในสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มเติม (Saxenian, 1999, p. 20) ส่งผลให้แรงงานทักษะสูงย้ายถิ่นไปสหรัฐอเมริกากันมากขึ้น

ประการที่สาม  บรรยากาศทางเศรษฐกิจการเมืองในสหรัฐอเมริกาดีกว่าไต้หวัน เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ไต้หวันยังถูกปกครองภายใต้กฎอัยการศึก (ต้องรอจนกระทั่ง 1987 จึงยกเลิก) และเสรีภาพของคนในสังคมถูกจำกัด[1]

คำถามคือ แล้วจอมยุทธ์ของไต้หวันเดินทางอยู่ที่ใดในโลก? คำตอบคือ พวกเขาอยู่ในชุมนุมชาวยุทธ์ที่เรียกว่า Silicon Valley ซึ่งผมขอแปลให้เป็นสำนวนกำลังภายในสักเล็กน้อยว่า ‘หุบเขาเม็ดทราย’[2]

ถึงแม้ ‘หุบเขาเม็ดทราย’ จะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของสหรัฐอเมริกา แต่ก็จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเป็นจำนวนมาก ประมาณการว่า ในปี 1990 แรงงานทักษะทางเทคโนโลยีสูง (high-tech workforce) เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และ วิศวกรของ Silicon Valley กว่า 30% เป็นชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้ 51% เป็นชาวจีน และประชากรส่วนใหญ่ของชาวจีนดังกล่าวมาจากไต้หวัน

จนเป็นที่มาของตลกร้าย ซึ่งกล่าวกันในแวดวงว่า

“Silicon Valley is the home of the integrated circuit, or IC—but when local technologists claim that ‘Silicon Valley is built on ICs’ they refer not to chips, but to Indian and Chinese engineers.” (Saxenian, 1999, p. 9)

(แปล – ซิลิคอนวัลเลย์คือแหล่งรวมของชิปหรือ IC แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีท้องถิ่นที่ซิลิคอนวัลเลย์พูดว่า ‘ซิลิคอนวัลเลย์เติบโตมาได้ด้วย IC’ พวกเขาไม่ได้หมายถึงชิป แต่หมายถึง I-Indian วิศวกรชาวอินเดีย และ C-Chinese วิศวกรจีน)

จุดเปลี่ยนสำคัญ:
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและค่าจ้างสูง

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ไต้หวันเกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญสามเรื่องได้แก่

เรื่องแรก การว่างงานระหว่างปี 1960-1970 ลดจาก 4% เหลือเพียง 1.7% เท่านั้น สะท้อนว่าตลาดแรงงานของไต้หวันเริ่มตึงตัว (Fields, 2004) ส่งผลให้แรงงานมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

เรื่องที่สอง แรงงานซึ่งเป็นประจักษ์พยานของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้อำนาจต่อรองที่ตนเองมีเคลื่อนไหว เรียกร้องค่าจ้างสูงขึ้น Chiu (2002) รายงานว่า สถิติข้อพิพาทแรงงานกับนายจ้างเพิ่มสูงขึ้นจากเพียง 15 กรณีในปี 1965 มาอยู่ที่ 458 กรณีในปี 1975 ถึงแม้ไต้หวันจะยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกก็ตาม

เรื่องที่สาม สภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวและการเคลื่อนไหวของแรงงานที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ทำให้ค่าจ้างแรงงานปรับตัวอย่างรวดเร็ว จากภาพที่ 1 เห็นได้ว่า อัตราการเพิ่มของค่าจ้างแรงงานในไต้หวันไม่เคยกลับไปต่ำกว่า 10% อีกเลยหลังปี 1970 เป็นต้นมา (ยกเว้นปี 1973) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างที่สูงมาก

ภาพที่ 1: อัตราการเติบโตของค่าจ้างก่อนหักเงินเฟ้อในไต้หวันระหว่างปี 1962-1980
ที่มา: คำนวณโดยผู้วิจัย โดยใช้ข้อมูลของ National Statistics of Taiwan (เข้าถึง March 14, 2019)

ปัจจัยเหล่านี้กดดันให้รัฐบาลและกลุ่มทุนไต้หวันต้องปรับตัว โดยใช้ปัจจัยทุนและเทคโนโลยีในการผลิตเข้มข้น Sun Yun-suan (Y.S. Sun) เทคโนแครตคนสำคัญของไต้หวัน ผู้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ (Minister of Economic Affairs) และนายกรัฐมนตรี (Premiere) จึงประกาศว่า:

“ความสามารถทางการแข่งขันของไต้หวันที่วางอยู่บนแรงงานราคาถูกกำลังถูกบ่อนเซาะลงอย่างค่อยไปค่อยไป แต่แน่นอน มันเป็นข้อเท็จจริงพื้นๆ ที่ว่า พวกเราไม่อาจจะพึ่งพิงอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นเป็นหลักยึดสำหรับการส่งออกได้อีกต่อไป พวกเราจำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนา เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าส่งออกของเราจะมีองค์ประกอบของแรงงานทักษะและ เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และใช้พลังงานกับวัตถุดิบลดน้อยลง เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา” (อ้างถึงใน Lauridsen, 2008, p. 456)

พร้อมกันนั้น ในปี 1978 Li Kwoh-ting (K.T. Li) อดีตรัฐมนตรีคลัง ผู้ซึ่งในภายหลัง New York Times ขนานนามว่า ‘Godfather of Technology in Taiwan’ ประกาศมาตรการกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีในภาคเอกชน คิดเป็นมูลค่าถึง 200 ล้านเหรียญไต้หวัน (NT$) และประกาศพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

คุณสมบัติของอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ “สองใหญ่ สองสูง และ สองต่ำ” โดย สองใหญ่ หมายถึง ผลกระทบเชื่อมต่อ (linkage effects) ที่กว้างขวางไปถึงอุตสาหกรรมอื่นได้มาก และมีศักยภาพที่จะขยายตลาดได้กว้างใหญ่ ส่วนสองสูง คือ มูลค่าเพิ่มสูง และใช้เทคโนโลยีสูง สุดท้าย สองต่ำ หมายถึง ใช้พลังงานต่ำ และมีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ

อุตสาหกรรมที่เข้าเกณฑ์ทั้งหกข้อในยุคนั้นคือ ‘อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์’ ซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ นั่นเอง

เครื่องมือดึงดูดจอมยุทธ์กลับบ้าน

เมื่อระบบเศรษฐกิจไต้หวันต้องปรับโครงสร้าง สิ่งที่ต้องปรับไปพร้อมกันคือ ‘ตลาดแรงงานทักษะสูง’

รัฐบาลไต้หวันจึงเร่งรัดปฏิรูปการศึกษาในประเทศทันทีโดยเฉพาะด้านวิชาชีพ ระหว่างปี 1970-1980 จำนวนผู้เข้าเรียนใน Junior Collage ของไต้หวันเพิ่มขึ้นเกือบ 100% จาก 55,301 คน เป็น 105,246 คน และสัดส่วนของผู้เรียนที่เข้าสายอาชีวศึกษาเพิ่มจาก 50% เป็น 66% ของผู้เรียนทั้งหมด (Cheng, 1992, p. 61; Wu et al., 1989, p. 126)

คุณภาพบัณฑิตในไต้หวันมีผลสำคัญที่ทำให้เหล่าผู้ประกอบการในต่างประเทศตัดสินใจกลับมาเปิดบริษัทในไต้หวัน เช่น Y. S. Fu แห่ง Logitech Inc. ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุหนึ่งที่เขาเลือกกลับมาตั้งบริษัทในไต้หวันเพราะ “แรงงานไต้หวันมีคุณภาพสูง และมีผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคจำนวนมากเพียงพอในมหาวิทยาลัย” (Watanabe, 1989)

อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะไม่ขอลงรายละเอียดถึงมาตรการปฏิรูปการศึกษามากนัก แต่จะเน้นน้ำหนักไปที่เครื่องมือดึงดูด Talents กลับจากต่างประเทศแทน โดยมีทั้งสิ้นสี่ด้านได้แก่

ด้านที่หนึ่ง – จัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะทราบว่า Talents ในอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ที่ใดบ้างในโลก รัฐบาลจึงพยายามเข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ[3] พร้อมทั้งกระจายข้อมูลเหล่านั้นให้ทั่วถึงในบรรดาผู้ใช้ประโยชน์จาก Talents กว่า 3,000 แห่ง อาทิ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีเข้มข้น

ด้านที่สอง – เชิญผู้เชี่ยวชาญกลับมาทำงานในไต้หวันระยะสั้น ประมาณการว่า มีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคกว่า 3,700 คน และนักวิชาการกว่า 2,500 คน ตัดสินใจกลับมาเป็นศาสตราจารย์รับเชิญ (visiting professor) หรือ ศาสตราจารย์วิจัยรับเชิญ (visiting research professor) ในช่วงทศวรรษที่ 1980s (Chang, 1992, p. 39)

มาตรการกลับมาทำงาน ‘ระยะสั้น’ นี้ช่วยให้ Talents เกิดความมั่นใจในเงื่อนไขการทำงานและมีเครือข่ายเพื่อนร่วมงาน เพิ่มโอกาสให้พวกเขาตัดสินใจย้ายกลับมาพำนักระยะยาวหรือถาวรมากขึ้น

ด้านที่สาม – การให้แรงจูงใจทางการเงินและสวัสดิการ เราสามารถพิจารณาสิทธิประโยชน์ออกเป็นสี่ด้านหลัก ได้แก่

1. เงินเดือนที่สูงเพียงพอจะปิดช่องว่างรายได้

2. การดูแลเงื่อนไขการทำงานที่ดี เช่น งานที่มีความหมาย งบวิจัยที่เพียงพอ และอุปกรณ์ที่จำเป็นกับการวิจัย

3. การดูแลด้านที่อยู่อาศัย

4. การมีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกในครอบครัว อาทิ โรงเรียนสำหรับลูกๆ ของ Talents เป็นต้น

ด้านที่สี่ – เงินกู้เพื่อก่อตั้งบริษัท (business-founding loan) พร้อมด้วยมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ กรณีที่ Talents มีเจตนาจะกลับมาเปิดกิจการ และมีแผนธุรกิจที่ดี รัฐจะช่วยสนับสนุนในหลายรูปแบบ ทั้งเงินกู้[4] เงินให้เปล่า และมาตรการอื่นๆ เพื่อผลักดันให้โครงการลงทุนดังกล่าวประสบความสำเร็จ

มากกว่าแค่เครื่องมือ คือ ‘กระบวนท่า’

เครื่องมือทั้งสี่ด้าน ทั้งการทำข้อมูล การแลกเปลี่ยนระยะสั้น การให้แรงจูงใจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว นี่จึงมิใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากของกรณีไต้หวันคือ ‘วิธีใช้เครื่องมือเหล่านี้’ โดยบทความนี้สรุปมาเป็น “สามกระบวนท่า” ในเบื้องต้น

กระบวนท่าที่หนึ่ง – มองหาชุมนุมชาวยุทธ์ที่เก่งกาจ (Talent pool) โดยเอาอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นหลักยึดสำคัญ

เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไม่เอาอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นตัวตั้ง การใช้เครื่องมือทางนโยบายต่างๆ เพื่อดึงดูด Talents ก็จะสะเปะสะปะ และเกิดสภาวะได้คนเก่งกลับมาแบบเบี้ยหัวแตกหรือไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จนก่อให้เกิดสภาวะสูญเปล่าทางปัญญา (brain waste) เช่น ได้คนที่เก่งมากแต่กลับมาอยู่ในสถาบันที่ไม่ได้วิจัยในหัวข้อตรงสาขา

แน่นอนว่า จอมยุทธ์ไต้หวันใน ‘หุบเขาเม็ดทราย’ คือกลุ่มที่รัฐบาลหมายตาให้กลับมาสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ

กระบวนท่าที่สอง – ‘สร้างเครือข่าย’ เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการดึงดูด Talents

ใน Silicon Valley มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างวิศวกร นักวิจัย และผู้ประกอบการ เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญนี้เองที่รัฐบาลไต้หวันเข้าไปใช้เป็นกลไกคัดกรอง ประสานงาน และดึงดูดTalents กลับไต้หวันอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่ ‘สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภูผาหยก’ (Monte Jade Science and Technology Association) (ผู้เขียนขอเรียกโดยย่อว่า สมาคมภูผาหยกฯ) สมาคมแห่งนี้ตั้งชื่อตามภูผา ‘อวี๊ซาน’ ซึ่งสูงที่สุดในไต้หวัน[5] ประกอบไปด้วยผู้ประกอบการไต้หวันกว่า 150 บริษัท และมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คนมารวมตัวเพื่อส่งเสริมให้เกิดการไหลเวียนของเงินลงทุนและเทคโนโลยีระหว่างกันเอง (Saxenian, 1999: 29)

เทคโนแครตคนสำคัญอย่าง Y.S. Sun และ K.T. Li เดินทางไปพบปะเครือข่ายเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสำคัญของการดึงดูด Talent สองด้าน คือ

1. ลดการเลือกผิดพลาด (adverse selection) เพราะเครือข่ายจะเป็นทั้งคนช่วยกรองคนที่เก่งจริง ๆ ให้แก่รัฐบาลไต้หวัน ซึ่งทำให้การเลือกคนเก่งแม่นยำกว่ารัฐบาลเลือกเองทีละคน

2. ลดการมีพฤติกรรมแย่ลงหลังได้รับการสนับสนุน (moral hazard) เพราะคนที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายมีแรงจูงใจที่จะต้องรักษาเครดิตของทั้งเครือข่ายเอาไว้ เป็นต้น

การดึงดูดผู้มีความสามารถโดยการทำผ่าน ‘เครือข่าย’ นี้ ยังสะท้อนถึงกระบวนท่าและมุมมองการบริหาร Talents ที่ไปไกลกว่าเรื่อง ‘บุคคล’ อีกด้วย ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่ ดังจะได้กล่าวถึงในส่วนถัดไปของบทความ

กระบวนท่าที่สาม – ปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่การผลิตจริงอย่างเข้มข้น

เมื่อดึงดูดจอมยุทธ์กลับสู่ไต้หวันได้แล้ว บุคลากรเหล่านั้นจะเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ส่งเสริมการผลิตและการวิจัยที่สำคัญ คือ Hsinchu Science-based Industrial Park (HSIP)

ยกตัวอย่างเช่น นักธุรกิจที่รับข้อเสนอเดินทางกลับมาตั้งบริษัทเทคโนโลยีเข้มข้นในไต้หวันจะถูกขอให้ตั้งโรงงานและบริษัทใน HSIP ขณะที่นักวิจัยที่มุ่งเน้นสนับสนุนภาคการผลิตก็จะได้รับการจ้างงานโดยห้องทดลองของ Industrial Technology Research Institute (ITRI) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ HSIP เช่นกัน

ส่วนอาจารย์รับเชิญหรืออาจารย์ที่ย้ายงานกลับมาจากต่างประเทศก็จะทำงานในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ตั้งอยู่ใกล้ HSIP อาทิ มหาวิทยาลัย Tsinghua และ Chiaotung โดยมีภารกิจผลิตบัณฑิตที่เก่งเพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลให้แก่ภาคการผลิตในระยะยาว (Chen, 2008, p. 68)

กล่าวได้ว่า Talents ได้รับการจูงใจให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ HSIP อย่างเข้มข้นซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อการสร้างอุตสาหกรรมใหม่หลายประการด้วยกัน

ข้อแรก เกิดกิจกรรมการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น การไหลเวียนความรู้และต้นทุนการติดต่อขนส่งสินค้าในห่วงโซ่การผลิตจึงทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Agglomeration effects and Marshallian Growth)

ข้อที่สอง การที่ Talents มาอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น ทำให้เกิดแรงดึงดูดกลุ่ม Talents รุ่นใหม่ ส่งผลให้การชักชวน โน้มน้าว Talents ระยะถัดไปทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

จอมยุทธ์ทั้งห้าแห่ง Microtek และอุตสาหกรรม Scanner

ในส่วนนี้ ผู้เขียนอยากชวนพิจารณาถึงการดึงดูด ‘ผู้ประกอบการ’ กลับไต้หวัน ว่ามีความสำคัญและสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยยกบริษัท Microtek และ TSMC เป็นตัวอย่าง

ในช่วงทศวรรษที่ 1980s Irving Ho ผู้บริหารของ HSIP ได้เชิญ Bobo Wang, Robert Hsieh, Carter Tseng, Benny Hsu, และ Chung-hsing Hu กลับจากสหรัฐอเมริกามาตั้งบริษัทร่วมกันชื่อ Microtek โดยผู้บริหารทั้งห้าผ่านการทำงานร่วมกันที่ Xerox และมหาวิทยาลัย University of Southern California (USC) มาก่อน

สินค้าตัวแรกของ Microtek ผลิตออกจำหน่ายคือ Scanner ซึ่งใช้เทคโนโลยีล่าสุดในท้องตลาดขณะนั้น บริษัท ‘สร้าง’ เทคโนโลยีใหม่ระดับโลกหลายรายการ เช่น Halftone optical film scanner ในปี 1984 Desktop halftone scanner ในปี 1986 Color scanner ในปี 1989 และเป็นเจ้าแรกที่พัฒนาระบบ Optical Character Recognition (OCR) ซึ่งใช้การอ่านตัวอักษรด้วยภาพขึ้นมา เป็นต้น

ความสำเร็จของรัฐบาลไต้หวันในการดึงดูด Talents ทั้งห้าคนกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ยังทำให้เกิดผลกระทบลูกโซ่อีกสองด้าน

ด้านแรก เกิดแรงจูงใจและความมั่นใจที่ Talents อื่นๆ ในสาขาเดียวกันจะย้ายเข้ามาทำการผลิตในพื้นที่มากยิ่งขึ้น และสร้างให้เกิดความประหยัดด้านต้นทุน ตลอดจนการไหลเวียนของความรู้ผ่านกิจกรรมการผลิตกำลังคน เช่น มีบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการเกี่ยวข้องกับ Scanner มากกว่า 20 บริษัทย้ายเข้ามาจัดตั้งบริษัทใน HSIP (Chen, 2008, p. 70)

ศาสตราจารย์ AnneLee Saxenian ประเมินว่าในยุครุ่งเรืองของ Microtek บริษัทสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเครื่อง Scanner ได้ถึงราว 20% ของทั้งโลก และในปี 1994 ไต้หวันในภาพรวมสามารถส่งออก Scanner ได้มากถึง 61% ของยอดขายในตลาดโลกทั้งหมด (Wang, 1995, p. 560)

ด้านที่สอง Microtek ยังช่วยลงทุนและพัฒนาธุรกิจให้แก่บริษัท spin-off จากศูนย์วิจัยของรัฐ ตัวอย่างเช่น บริษัทลงทุนให้แก่ นักวิจัยสามคนของ Institute for Information Industry (III) คือ Lotus Chen, Lewis Liaw and Way-Zen Chen เพื่อตั้งบริษัท Ulead Systems ซึ่งเน้นพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการปรับแต่งภาพ บริษัทประสบความสำเร็จจนมีมูลค่าในปี 2005 สูงถึง 2 พันล้านบาท[6]

Morris Chang แห่ง TSMC และอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ

เมื่อกล่าวถึงนโยบายดึงดูดกำลังคนความสามารถสูงของไต้หวันในช่วงทศวรรษที่ 1980s รายชื่อหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ Morris Chang

Chang เป็นผู้อพยพชาวจีนที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเรียนมหาวิทยาลัย Harvard ในปี 1949 จบการศึกษาทั้งปริญญาตรีและโทจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในปี 1955

หลังเรียนจบ เขาเข้าร่วมงานกับ Sylvania Semiconductor เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์สามปี เขาย้ายงานอีกครั้งในปี 1958 โดยไปร่วมงานกับ Texas Instruments (TI) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสารกึ่งตัวนำและชิป (semiconductor and chip) ซึ่งครั้งนี้นำมาสู่ความสำเร็จทางอาชีพอย่างงดงามของ Chang

เขาไต่เต้าจากวิศกรที่ดูแลการผลิตหน้างานไปจนกระทั่งได้เป็นรองกรรมการผู้จัดการของ TI จึงเข้าใจทั้งด้านเทคนิคและธุรกิจของอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำเป็นอย่างดี ในวันที่เขาตัดสินใจลาออกจาก TI ข่าวของ Chang กลายเป็นข่าวดังในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารเทคโนโลยี  เช่น the Dallas Papers, the Electronics Trade Papers, และ the Wall Street Journal สะท้อนถึงความสำคัญของ Chang ในแวดวงได้ชัดเจน

หลังลาออกจาก TI เขาใช้เวลาสั้นๆ ทำงานในฐานะ Chief Operating Officer (COO) ให้กับบริษัท General Instrument (GI) ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มบริษัท Fortune 500 อย่างไรก็ตาม ไม่นานนัก Chang ก็ลาออกอีกครั้งหนึ่งเพราะมุมมองที่ไม่ตรงกันกับ GI ในเรื่องการขยายกิจการ

จังหวะนี้เองที่ K.T. Li ติดต่อ Chang เพื่อขอให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งประธานของ the Industrial Technology Research Institute (ITRI) และ Chang ก็ตอบตกลงรับงานอันท้าทายนี้

ภายหลังจาก Chang ย้ายกลับมาไต้หวันได้ไม่กี่สัปดาห์ เขาก็ถูกขอให้ส่งแผนธุรกิจที่จะสร้างอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำขึ้นในไต้หวัน

เขาได้พิจารณาโครงสร้างอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำของไต้หวันในช่วงทศวรรษที่ 1980s อย่างรอบด้าน และพบว่า เทคโนโลยีที่ไต้หวันผลิตได้ยังตามหลัง Silicon Valley อยู่ถึงราว 2.5 รุ่น ถึงแม้จะมีการซื้อเทคโนโลยีจาก RCA และส่งนักวิจัยรุ่นใหม่ไปอบรมตั้งแต่ปี 1976[7] แล้วก็ตาม

เขาประเมินว่า อัตราการเรียนรู้จากการผลิตในห้องทดลองและโรงงานต้นแบบ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไล่ตามความเร็วของผู้นำในอุตสาหกรรมจริงๆ ได้ทัน หากไม่ได้เข้าแข่งขันในตลาดเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง

คำถามใหญ่คือ ไต้หวันจะแทรกตัวเข้าไปในห่วงโซ่การผลิตโลกที่มีเจ้าตลาดรายเดิมอยู่อย่างไร?

Chang เสนอสิ่งที่ถูกมองว่าเสี่ยงมากในสมัยนั้น[8] ก็คือการลงทุนเพื่อเป็นผู้ผลิตชิปกลางน้ำเพียงอย่างเดียว (pure-play foundry) เขาร่วมกับนักวิจัยใน ITRI สร้างบริษัทร่วมทุนรัฐและเอกชนข้ามชาติ อาทิ Royal Philip Electronics จากเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้งบริษัท TSMC ขึ้นในปี 1987

บริษัทเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว การที่มีโรงงานผลิตแบบ TSMC ส่งผลให้เกิดบริษัทที่ทำหน้าที่เฉพาะต้นน้ำและปลายน้ำในอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำจำนวนมากกว่า 200 บริษัทตามมา โดยส่วนใหญ่อยู่ใน HSIP ปัจจุบัน TSMC กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก

ประสบการณ์ของการดึงดูดผู้ก่อตั้ง Microtek และ TSMC ที่ยกมานี้ ยังตอกย้ำแนวคิดการ ‘หมุนเวียนทางปัญญา’ (brain circulation) ที่มองว่า การยอมให้ Talents ไหลเวียนออกไปจากประเทศเพื่อแสวงหา ประสบการณ์ ความรู้ และเครือข่าย ก่อนจะนำสิ่งมีค่าทั้งสามกลับมาประเทศแม่ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงกว่าการกักเก็บ Talents เอาไว้ในประเทศแม่ตลอด

เป้าหมายใหม่ในศตวรรษที่ 21: มังกรเหนือ เสือใต้ และอสูรกายเทคโนโลยี

ถึงแม้มาตรการและกระบวนท่าต่างๆ ของรัฐบาลไต้หวันจะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทว่าเมื่อล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ไต้หวันต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ และต้องปรับตัวหลายประการ

1. การตั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่: หลังปี 2000 ไต้หวันประสบความสำเร็จกลายเป็นประเทศที่มีระดับเทคโนโลยีและรายได้สูงแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การสร้างไต้หวันให้เป็น Silicon Valley แห่งเอเชีย และการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เช่น เครื่องจักรอัจฉริยะ ยาชีววัตถุ การป้องกันประเทศ พลังงานสะอาด เกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจหมุนเวียน ปัญญาประดิษฐ์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

2. การปรับตัวเองเป็นศูนย์กลางการหมุนเวียนทางปัญญา: รัฐบาลไต้หวันและ American Institute in Taiwan (AIT)[9] ร่วมกันสร้าง Talent Circulation Alliance (TCA) โดยตั้งเป้าให้ไต้หวันเป็นศูนย์กลางผู้มีความสามารถสูงของโลก และส่งเสริมการไหลเวียนทางปัญญา กล่าวคือ มีเป้าหมายส่งเสริม Talents ในไต้หวันให้เคลื่อนที่ไปมีส่วนร่วมการผลิตในระดับนานาชาติ และขณะเดียวกันก็ส่งเสริม Talents ระดับนานาชาติ ให้เข้ามามีส่วนร่วมการผลิตในไต้หวัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3. การแสวงหา talent pool ใหม่: รัฐบาลไต้หวันขยายขอบเขตการหมุนเวียน Talents ไปสู่พรมแดนใหม่ โดยมีสามพื้นที่สำคัญได้แก่ มังกรเหนือ เสือใต้ และอสูรกายเทคโนโลยี

มังกรเหนือ หมายถึง ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ซึ่งผงาดขึ้นมาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้นอย่างรวดเร็ว ไต้หวันจึงเร่งสร้างเครือข่ายเชื่อมต่อทางความรู้ เช่น โครงการความร่วมมือหมุนเวียนกำลังคนระหว่างมหาวิทยาลัยในมณฑลฝูเจี้ยน (Fujian) และไต้หวันอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะสาขาปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ ปัจจุบันไต้หวันมีแรงงานทำงานต่างประเทศราว 720,000 คน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งทำงานอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงต้องเร่งหาทางบริหารแรงงานเหล่านี้ในเชิงกลยุทธ์ (TCA, 2021)

เสือใต้ หมายถึง ‘กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ (Southeast Asia – SEA) ซึ่งเริ่มมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และมีการผลิต Talents จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไต้หวันจึงตั้งโครงการ The New Southbound Talent Development Program เพื่อสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงกับ Talents ในประเทศกลุ่ม SEA รวมไปถึง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วยเช่นกัน

อสูรกายเทคโนโลยี หมายถึง ‘Tech Giants’ ทั้งหลาย ซึ่งมีมูลค่าการค้าสูงกว่า GDP ของประเทศขนาดเล็ก และมีการจ้างงาน Talents จำนวนมาก บทบาทที่มากยิ่งขึ้นและปฏิเสธได้ยากนี้เอง ทำให้รัฐบาลไต้หวันสนับสนุนการบริหาร Talents แบบ ‘มหาวิทยาลัย + บริษัทขนาดใหญ่’ มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ปี 2013 Google เข้าไปลงทุนสร้าง Data Center และเข้าซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีจำนวนหนึ่งในไต้หวัน ซึ่งนำไปสู่การจ้างวิศวกรจำนวนมาก หลังจากนั้นห้าปี บริษัทประกาศแผนจ้าง Talents เพิ่มเติมราว 300 คนและเปิดโครงการอบรมนักศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ราว 5,000 คน เป็นต้น (Jennings, May 20, 2020)

(4) การสร้างนิคมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งใหม่: ภายหลังปี 2000 นิคมการผลิต HSIP มีความหนาแน่นแล้ว จึงขยับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ไปในพื้นที่อื่นๆ เช่น Central Taiwan Science Park (CTSP) นับจากเริ่มดำเนินการจนถึงปี 2018 CTSP ดึงดูดเงินลงทุนได้สูงถึง 75,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล สร้างงานกว่า 45,000 ตำแหน่งจาก 145 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างชาติ 25% ของทั้งหมด

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Southern Taiwan Science Park (STSP) ในเขต Tainan และ Kaohsiung ซึ่งดึงดูดการลงทุนจนมีบริษัทเข้ามาทำการผลิตมากถึง 222 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ TSMC ซึ่งมีแผนการลงทุนสูงถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิพ 5-nanometer และอีกราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับโรงงานผลิตชิพ 3-nanometer รวมแล้วคิดเป็นมูลค่าเงินบาทราว 1 ล้านล้านบาทด้วยเอกชนรายเดียว เขตนิคมไฮเทคเหล่านี้คือแหล่งงานของจอมยุทธ์ไต้หวันหลังปี 2000 เป็นต้นมา (Fulco, 2019)

แน่นอนว่า ผู้เขียนคงไม่สามารถจะเล่าความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายกำลังคนยุคใหม่ของไต้หวันได้อย่างครอบคลุมทุกด้าน สาระสำคัญคือ การสร้างกำลังคนเป็น ‘กระบวนการต่อเนื่อง’ เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้แต่ไต้หวันซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในระหว่าง 1980-2000 ก็ยังต้องปรับตัวอย่างแข็งขัน ไม่สามารถยึดติดกับความสำเร็จในอดีตไปได้ตลอดครับ

บทส่งท้าย: การท่องยุทธภพ ในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง

การที่เหล่าจอมยุทธ์ตัดสินใจออกท่องยุทธภพไปทั่วโลกโดยทิ้งบ้านเกิดไว้เบื้องหลังนั้น ด้านหนึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาโอกาสทางอาชีพ ทว่าอีกด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงจุดยืนอย่างเป็นรูปธรรมว่าประเทศของตนเอง ‘มีปัญหาที่ต้องปรับปรุงพัฒนา’

ประเทศที่สูญเสียจอมยุทธ์ออกไปเรื่อยๆ จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น จะไม่มีคนเก่งมากเพียงพอจะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ผลร้ายเหล่านี้มีแนวโน้มกดดันรัฐให้ต้องปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังที่ไต้หวันประสบในช่วงทศวรรษที่ 1960s-1970s จนนำมาสู่การปรับตัวช่วง 1980s เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาของ Xiaoyang Li และ John McHale ปี 2006 พบว่า การย้ายถิ่นของผู้มีการศึกษาสูงจะทำให้สถาบันทางการเมืองของประเทศบ้านเกิดปรับตัวเป็นประชาธิปไตยและการใช้อำนาจรัฐจะถูกจำกัดมากขึ้น

นัยนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การย้ายประเทศไม่ใช่ศิโรราบ แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองรูปแบบหนึ่งเช่นกัน


Works Cited

Chang, Shirley. 1992. “Causes of Brain Drain and Solutions: The Taiwan Experience.” Studies in Comparative lnternatioanl Development 27 (1): 27-43.

Chen, Tain-Jy. 2008. “The emergence of Hsinchu Science Park as an IT cluster.” In Growing Industrial Clusters in Asia: Serendipity and Science, by Shahid Yusuf, Kaoru Nabeshima and Shoichi Yamashita, 67-90. Washington, D.C.: The World Bank.

Cheng, Tun-Jen. 1992. “Dilemmas and choices in educational policies: The case of South Korea and Taiwan.” Studies in Comparative International Development 27 (4): 54-79.

Chiu, Su-Fen. 2002. “Labor control in worker’s perspectives.” Journal of Contemporary Asia 32 (4): 474-499.

Fields, Gary. 2004. “Dualism in the labor market: A perspective on the Lewisian model after half a century.” The Manchester School 72 (6): 724-735.

Fulco, Matthew. 2019. What are Taiwan’s Science Parks? March 21. Accessed September 29, 2021. https://topics.amcham.com.tw/2019/03/what-are-taiwans-science-parks/.

Hsueh, Li-min, Chen-kuo Hsu, and Dwight H. Perkins. 2001. Industrialization and the state: The changing role of the Taiwan government in the economy, 1945-1998. Harvard University Press.

Jennings, Ralph. 2020. Why Google Is Investing In Taiwan’s Tech Talent. May 20. https://www.forbes.com/sites/ralphjennings/2020/05/20/why-google-is-investing-in-taiwans-tech-talent/.

Lauridsen, Laurids S. 2008. State, institutions and industrial development: Industrial deepening and upgrading policies in Taiwan and Thailand compared. Aachen: Shaker Verlag.

Li, Xiaoyang, and John McHale. 2006. Does Brain Drain Lead to Institutional Gain? A Cross Country Empirical Investigation. Manuscript, Queen’s University.

Saxenian, AnnaLee. 1999. Silicon Valley’s new immigrant entrepreneurs. San Francisco, CA: Public Policy Institute of California.

Saxenian, AnnaLee, and Jinn-Yuh Hsu. 2001. “The silicon valley-Hsinchu connection: Technical communities and industrial upgrading.” Industrial and Corporate Change 10 (4): 893-920.

SEMI. 2007. Oral History Interview: Chang, Morris. August 24. Accessed September 29, 2021. https://www.semi.org/en/Oral-History-Interview-Morris-Chang.

Taiwan Today. 2010. Veteran tells story of Taiwan’s semiconductor industry. June 18. Accessed September 29, 2021. https://taiwantoday.tw/news.php?unit=6&post=9508.

TCA. 2020. Talent Circulation Alliance White Paper. Accessed September 29, 2021. https://www.ait.org.tw/talent-circulation-alliance-white-paper/.

Tzeng, Rueyling. 2006. “Reverse brain drain: Government policy and corporate strategies for global talent searches in Taiwan.” Asian Population Studies 2 (3): 239-256.

Wang, Vincent Wei-cheng. 1995. “Developing the Information Industry in Taiwan: Entrepreneurial State, Guerrilla Capitalists, and Accommodative Technologists.” Pacific Affairs 68 (4): 551-576.

Watanabe, Teresa. 1989. Science Park Key to Taiwan’s Growth : Technology: The scientific center has helped make Taiwan the world’s sixth-largest producer of computer-related products. December 29. Accessed September 29, 2021. https://www.latimes.com/archives/la-xpm-1989-12-29-fi-1232-story.html.

Wu, Wen-Hsing, Shun-Fen Chen, and Chen-Tsou Wu. 1989. “The development of higher education in Taiwan.” Higher Education 18: 117-136.


[1] ตัวอย่างคดีอื้อฉาวคดีหนึ่งคือการตายปริศนาของ ดร. Chen Wen-cheng อาจารย์ด้านสถิติแห่ง Pittsburgh’s Carnegie-Mellon University ผู้เป็นชาวเกาะไต้หวันพื้นเมืองและเรียกร้องประชาธิปไตย การตายดังกล่าวยังคงเป็นปริศนาถกเถียงจนถึงปัจจุบัน

[2] หุบเขาเม็ดทรายเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการอิเล็กทรอนิกส์ สารสนเทศ และการสื่อสารที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น เป็นพื้นที่นวัตกรรมที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ในเขตอ่าวซานฟรานซิสโก (San Francisco Bay) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงตัวหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว คือแผงวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) และชิพ (chip)

[3] เทคนิคหนึ่งที่รัฐบาลเลือกใช้คือการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ เช่น National Development Conference อย่างต่อเนื่องเพื่อเฟ้นหาผู้มีความสามารถสูงและสร้างสายสัมพันธ์

[4] ในส่วนของเงินกู้เพื่อก่อตั้งบริษัทนั้น กระบวนการคือ แรงงานไต้หวันที่ทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถรวมตัวเสนอแผนธุรกิจมาสู่ National Youth Commission (NYC) เพื่อพิจารณา หาก NYC เห็นชอบก็จะส่งเรื่องต่อพร้อมจดหมายแนะนำไปให้แก่กองทุนและสถาบันการเงินที่รัฐทำสัญญาเอาไว้ให้พิจารณา อาทิ Sino-American and Social Fund, Bank of Taiwan, Cooperative Bank, และ City Bank of Taipei เป็นต้น โดยมีทุนประเดิมให้ราว 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (Chang, 1992, p. 40)

[5] ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ธีรภัทร เจริญสุข สำหรับเกร็ดความรู้เรื่องที่มาของชื่อสมาคม

[6] ต่อมา Ulead Systems ได้ขยายขอบเขตจนกลายเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการเขียนซอฟต์แวร์สื่อมัลติมีเดียที่ประสบความสำเร็จ สินค้าตัวแรกของบริษัทคือ PhotoSlayer ซึ่งถูกซื้อต่อไปโดย Aldus Corporation และท้ายสุดถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Adobe ส่วนตัวบริษัท ได้เสนอซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันปี 2001 และถูกซื้อกิจการไปในมูลค่าราว 2 พันล้านบาทในปี 2005

[7] นักวิจัยชุดดังกล่าวต่อมาได้เติบโตในอาชีพจนกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ Chintay Shih ซึ่งต่อมาเป็นรองผู้อำนวยการของ ERSO, Bob Tsao ประธานคนแรกของบริษัท United Microelectronics Corp., Tsai Ming-kai ประธานบริษัท MediaTek Inc. ซึ่งเป็นผู้นำด้านการออกแบบแผงวงจร และ F.C. Tseng รองประธานของ TSMC เป็นต้น (Taiwan Today, June 18, 2010)

[8] ที่กล่าวว่าเป็นการเสนอที่เสี่ยง เพราะในสมัยนั้น แนวคิดนี้ถือว่ายังใหม่มากและยังไม่มีผู้ใช้บริการที่สรรค์สร้างสินค้าโดยไม่ทำโรงงานผลิตด้วยตนเองมากนัก แต่จากประสบการณ์ของ Chang มองเห็นว่า ต้นทุนการตั้งโรงงานกำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผู้ผลิตจำนวนมากที่อยากจะทำเพียงขั้นตอนออกแบบแผงวงจร หรือทำเฉพาะการขายสินค้าปลายน้ำโดยไม่ตั้งโรงงาน จึงได้เสนอแผนดังกล่าวอย่างแข็งขัน

[9] เป็นหน่วยงานเอกชนซึ่งรับทำหน้าที่แทนสถานทูตสหรัฐฯ หลังการถอนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศในปี 1979 เช่น การออกวีซ่า และหนังสือเดินทาง เป็นต้น

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save