xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกผลกระทบเอลนีโญ คาดสินค้าเกษตรลด-ราคาขาขึ้น “พาณิชย์” ลุยรับมือสกัดข้าวยากหมากแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงต้นเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ประกาศแจ้งเตือนปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่กระแสลมเปลี่ยนทิศ กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังภูมิภาคอเมริกาใต้ ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศและมรสุมแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก โดยภูมิภาคอเมริกาใต้จะมีฝนตกหนักกว่าปกติ ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจะเกิดภัยแล้งและอาจเกิดไฟป่า ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น

โดยในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาโลกเผชิญซูเปอร์เอลนีโญแล้ว 5 ครั้ง (ปี 2515/16 2525/26 2534/35 2540/41 และ 2558/59) และจะเกิดครั้งต่อไปในเดือน ต.ค. 2566 ไปจนถึงปี 2567 ซึ่งเอลนีโญจะเกิดทุกๆ 2-7 ปี มีระยะเวลา 9-12 เดือน และนักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าเอลนีโญจะมาถี่ขึ้น และอุณหภูมิอาจยกกำลังเพิ่มขึ้น

ดันราคาสินค้า-พลังงาน-เงินเฟ้อสูงขึ้น
ทั้งนี้ มีรายงานการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ศึกษาผลกระทบของเอลนีโญในอดีต โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ใช้ข้อมูลปี 2522-2556 เผยแพร่เมื่อต้นปี 2560 พบว่า เอลนีโญส่งผลกระทบทำให้

1. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Prices) สูงขึ้น ซึ่งความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่เพียงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น แต่ทำให้ความต้องการใช้ถ่านหินและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง และภาคการเกษตรมีความต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อการชลประทานซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปัจจัยเหล่านี้ ผลักดันให้ราคาพลังงานสูงขึ้น

2. เงินเฟ้อ (Inflation) เกิดจากราคาเชื้อเพลิงและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น โดยหากประเทศใดมีสัดส่วนน้ำหนักของสินค้าหมวดอาหารในตะกร้าเงินเฟ้อค่อนข้างสูง ก็อาจทำให้เงินเฟ้อสูงด้วย

3. อัตราการเติบโตของผลผลิตที่แท้จริง (Real Output Growth) ซึ่งผลกระทบแตกต่างกันไป เช่น อาร์เจนตินา ฝนตกอุดมสมบูรณ์ทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น ออสเตรเลีย ผลผลิตข้าวสาลีลดลงจากความแห้งแล้ง ทำให้ราคาข้าวสาลีโลกสูงขึ้น แคนาดา ผลผลิตประมงเพิ่มขึ้นจากอากาศอบอุ่นขึ้น ชิลี ฝนตกหนักกระทบการทำเหมืองแร่ทองแดงทำให้ผลผลิตลดลง อินเดีย ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ราคาอาหารและเงินเฟ้อสูงขึ้น อินโดนีเซีย ภาคเกษตรได้รับผลกระทบ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ของโลกสูงขึ้น เช่น กาแฟ โกโก้ และน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ การทำเหมืองนิกเกิลในอินโดนีเซียต้องอาศัยพลังงานน้ำ ด้วยปริมาณฝนที่ไม่เพียงพอ ทำให้การส่งออกนิกเกิลของอินโดนีเซียลดลงและราคาโลกสูงขึ้น

ย้อนดูผลกระทบของไทยในปี 58
หากย้อนดูผลกระทบต่อไทยในปี 2558 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่เกิดซูเปอร์เอลนีโญ พบว่า ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของไทยส่วนใหญ่ลดลง โดยข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตลดลงร้อยละ 15.4 17.6 และ 1.9 ตามลำดับ ขณะที่มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังทดแทนในพื้นที่นาที่ไม่เหมาะต่อการปลูกข้าว และมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในส่วนของราคาสินค้าเกษตร ในปี 2558 สินค้าเกษตรหลายรายการราคาสูงขึ้น โดยข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 มังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.8 ลำไย เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และเงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 สำหรับสินค้าเกษตรที่ราคาลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ลดลงร้อยละ 5.4

ทั้งนี้ โดยทั่วไปเมื่อผลผลิตลดลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น แต่กรณีปาล์มน้ำมัน ทั้งปริมาณผลผลิตและราคาลดลง มีสาเหตุจากการมีสต๊อกน้ำมันปาล์มอยู่จำนวนมาก และภาวะการค้าชะลอตัวจากผลผลิตปาล์มน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกของไทยในปี 2558 พบว่าสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 10.7 และ 10.8 น้ำมันปาล์ม ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 61.6 และ 63.9 มังคุด ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 8.6 และ 9.4 ในส่วนของสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และ 2.5 ทุเรียน ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 ขณะที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ลำไย ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 และ 22.9 เงาะ ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.7 และ 52.7 เนื่องจากมีความต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง


เอลนีโญปี 66 สินค้าไหนเสี่ยงบ้าง

สำหรับผลกระทบจากเอลนีโญต่อการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของไทย ได้แก่ สินค้าข้าว มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตปี 2566/67 จะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ก็เพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ และส่งออกได้

สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าสุทธิ นำเข้าจากเมียนมาเกือบทั้งหมด คาดว่าผลผลิตปี 2566/67 จะลดลง แต่ก็ยังมีมากกว่าช่วงภัยแล้งปี 2562/63 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 7 เดือนของปี 2566 ไทยนำเข้าข้าวสาลี 1.4 ล้านตัน และข้าวบาร์เลย์ 0.5 ล้านตัน ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 371.9 และ 490.6 ตามลำดับ ซึ่งข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์เป็นสินค้าทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

สินค้ามันสำปะหลัง มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตปี 2566/67 จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ขณะที่ฝั่งสมาคมผู้ประกอบการเกี่ยวกับมันสำปะหลังเปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะเหลือ 24 ล้านตัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศต้องการ 40 ล้านตัน ซึ่งจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์แปรรูปไทย

สินค้าน้ำมันปาล์ม มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2566/67 จะลดลงจากสภาพอากาศร้อน ฝนน้อย และทำให้ผลปาล์มมีน้ำหนักลดลง ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีนโยบายลดการส่งออกน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกสูงขึ้นจากอุปทานที่ลดลง

สินค้าผลไม้ มีการคาดการณ์ว่าทุเรียนและมังคุดจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลำไยจะมีผลผลิตลดลง เนื่องจากภัยแล้งและพื้นที่ปลูกที่ลดลง

สินค้าน้ำตาล เอลนีโญทำให้อินเดียมีผลผลิตน้ำตาลลดลง อีกทั้งรัฐบาลอินเดียมีมาตรการชะลอการส่งออกน้ำตาล ทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกสูงขึ้น ฟิลิปปินส์มีมาตรการนำเข้าน้ำตาลทรายเพื่อสำรองไว้ในประเทศ ขณะที่บราซิลจะมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น สำหรับไทยคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 2566/67 จะลดลง

ในวิกฤตมีโอกาส หากมีแผนรับมือ

จากสถานการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดังกล่าว นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้สั่งการให้หน่วยงานทำการวิเคราะห์ ประเมินผลกระทบ และแนวทางรับมือ โดยในส่วนของสินค้าข้าว พบว่าจะต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อหาช่องทางและโอกาสทางการค้าสำหรับไทย เพราะในวิกฤตก็มีโอกาสที่ไทยจะส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องระวังเรื่องผลกระทบในประเทศ ที่จะมีปัญหาข้าวบริโภคราคาปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ประเทศผู้ส่งออกและนำเข้าข้าว พบว่าอินโดนีเซียมีนโยบายความมั่นคงทางอาหารต้องการสำรองข้าว ขณะที่อินเดียขึ้นภาษีส่งออกข้าวนึ่ง รวมทั้งระงับการส่งออกข้าวทุกชนิดที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ อีกทั้งเวียดนามมีนโยบายลดปริมาณการส่งออกข้าว โดยจะส่งออกข้าวคุณภาพสูงและไม่เน้นปริมาณ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 อินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงกับอินเดีย อนุญาตนำเข้าข้าวจากอินเดีย 1 ล้านตัน เพื่อจัดหาข้าวในกรณีเกิดการหยุดชะงักอันเป็นผลจากเอลนีโญ

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไทยผลผลิตไม่เพียงพออยู่แล้ว การอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าพืชอาหารสัตว์เพื่อช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทยจะต้องทำต่อ แต่ขณะเดียวกันต้องดำเนินมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ไปด้วยพร้อมกัน

สำหรับมันสำปะหลัง ต้องให้ความสำคัญต่อการปลูกให้ได้ผลผลิตสูง และอาจส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชต้องการน้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าว เพราะในปี 2558 ที่เกิดซูเปอร์เอลนีโญ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์แปรรูป มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และ 2.5 ตามลำดับ และปาล์มน้ำมัน คาดว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้น จึงน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย

ทางด้านผลไม้ แม้ผลผลิตบางรายการจะเพิ่มขึ้น อย่างทุเรียนและมังคุด และลำไยจะลดลง แต่หากบริหารจัดการได้ดี เชื่อว่า การส่งออกจะยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ที่ยังเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทย ยังมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง และน้ำตาลทราย คาดว่า ภาพรวมราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย


“พาณิชย์” เตรียมพร้อมสู้เอลนีโญ

ทั้งนี้ จากปรากฏการณ์เอลนีโญ สนค.ประเมินว่าไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ และส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อที่จะปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้น หากไม่มีแผนรับมือ หรือมาตรการรับมืออย่างทันท่วงที จากโอกาสที่จะเกิดขึ้น ก็อาจจะกลายเป็นวิกฤตได้

โดยที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีการตั้งวอร์รูม เพื่อรับมือกับผลกระทบจากเอลนีโญที่มีต่อพืชผลทางการเกษตร มีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัดไปแล้ว เพื่อติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องสถานการณ์น้ำ สถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เพราะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการบริโภค และความมั่นคงด้านอาหาร

นายกีรติกล่าวว่า ได้หารือกันว่ามีข้อมูลตัวไหนที่จะต้องติดตาม และจะติดตามอย่างไร ทั้งข้อมูลในประเทศ และต่างประเทศ ตัวไหนมีความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องฝน เรื่องน้ำ ภาวะภัยแล้ง และกำหนดให้รายงานอย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์เร่งด่วน ก็ต้องรายงานทันที เพื่อให้มองเห็นภาพว่าแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้น จะได้เตรียมรับมือได้ทัน เป็นการวางแผนล่วงหน้าเชิงรุก ไม่ใช่การตั้งรับ

ปีนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการ

นายกีรติกล่าวว่า ปีนี้ประเมินแล้วยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรออกมา เพราะผลกระทบจากเอลนีโญยังไม่น่าจะมีปัญหา แต่เบื้องต้นจะต้องติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ปีหน้าที่หลายฝ่ายมองว่าจะเริ่มเกิดภาวะภัยแล้ง ก็ต้องมีการติดตามกันต่อไป และหากจำเป็นก็จะเป็นเรื่องที่จะต้องมาพิจารณาว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา ทั้งในเรื่องการส่งออก การนำเข้า แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณอะไร

ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวน 58 แห่ง ให้ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูก การบริโภค ความต้องการสินค้าเกษตร ในประเทศที่ตนเองประจำอยู่ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งที่ได้รับรายงานมาแล้ว เช่น อินเดีย มีการห้ามส่งออกข้าวขาว เวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์ มีมาตรการติดตามผลกระทบจากกรณีที่อินเดียใช้มาตรการอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา และเริ่มมีความต้องการซื้อข้าวและสินค้าเกษตรจากหลายประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนพาณิชย์จังหวัด ก็ต้องติดตามภาวะการเพาะปลูก สถานการณ์การผลิตในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นหรือลดลง และมีแนวโน้มมีปัญหาหรือไม่

สำหรับผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ประเมินแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะไทยปลูกข้าวใช้บริโภคในประเทศครึ่งหนึ่ง ที่เหลืออีกครึ่งสำหรับส่งออก และผลผลิตในแต่ละปีก็เพิ่มขึ้นลดลงเป็นปกติอยู่แล้วตามสภาพฝนและน้ำ แม้จะไม่เกิดภาวะภัยแล้ง มันสำปะหลังมีแนวโน้มลดลงจากการเกิดโรคใบด่างและภัยแล้ง แต่ไม่มีปัญหาในเรื่องผลผลิตขาดแคลน เพราะไทยยังสามารถนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปาล์มน้ำมัน ประเมินแล้วยังไม่พบว่ามีปัญหา

แม้ปัจจุบันผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญจะยังไม่มีผลอะไรต่อไทย แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ได้เตรียมความพร้อม ติดตามสถานการณ์ทุกปัจจัยอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์น้ำ ภัยแล้ง การค้าขายสินค้าเกษตร ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ติดตามสถานการณ์จากทั่วโลก เพื่อที่จะได้รู้เขารู้เรา และสามารถวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที หากมีปัจจัยตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงจนก่อให้เกิดภาวะวิกฤตเกิดขึ้น เพราะรู้อยู่ว่าถ้าวางแผนผิดพลาด จากวิกฤตที่จะกลายเป็นโอกาส ก็อาจจะเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพงเกิดขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญของโลกก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น