4IR กับเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่

อัปเดตล่าสุด 13 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 2,877 Reads   

เศรษฐกิจโลกมีการพัฒนาการมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ในช่วงเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา มนุษย์เราได้คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆและได้รังสรรค์สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตอลังการและสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ไว้มากมาย อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกเพิ่งมีพัฒนาการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วง 200 ปีที่ผ่านมานี้ หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เมื่อศตวรรษที่ 18 หลังจากนั้น มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม (IR: Industrial Revolution) อีกหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันยุคแห่ง "อุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry 4.0" เศรษฐกิจโลกก็มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดสูงสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

บทความนี้จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการค้าของโลกในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 หรือยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ตามที่เรียกกันคุ้นหูว่าเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดและกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ ทั้งพฤติกรรมการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย รูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ทั้งสินค้าและบริการ โดยมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีความเป็นอัจฉริยะและอัตโนมัติมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งด้านดิจิทัล ด้านกายภาพและด้านชีวภาพ

4IR (4th Industrial Revolution) คืออะไร

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 คือยุคเครื่องจักรกล ที่มีการใช้พลังงานจากไอน้ำและใช้เครื่องจักรกลมาทุ่นแรงมนุษย์อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานไอน้ำก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรมากมายและไม่สามารถกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในอนาคต การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหาข้อจำกัดนี้ ด้วยการคิดค้นไฟฟ้า ที่สามารถเก็บไว้ใช้ในอนาคตได้

อย่างไรก็ตามการผลิตสินค้า และบริการในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ยังคงต้องใช้แรงงานมนุษย์เป็นสำคัญ จึงก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่มีการคิดค้นระบบคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อควบคุมเครื่องจักรให้ทำงานอย่างอัตโนมัติแทนมนุษย์มากขึ้น ทำให้ผลิตภาพของแรงงานพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีการคิดระบบสื่อสารที่ทันสมัยผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ต้นทุนการสื่อสารทางไกลถูกลงมาก ส่งผลให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ ให้มนุษย์ทุกคนอยู่ใกล้ชิดกันแค่ปลายนิ้วสัมผัส

อย่างไรก็ตามในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกเทศ และไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีด้านอื่นๆมากนัก การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึง เป็นยุคที่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งด้านดิจิทัล (Digital) กายภาพ(Physical) และชีวภาพ (Biological) มาผสมผสานประยุกต์ใช้ด้วยกันอย่างกลมกลืน (Cyber Physical System) โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นจุดเชื่อมโยงและก้าวกระโดดสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (Connection)

รวมทั้ง มีความเป็นอัจฉริยะและอัตโนมัติ (Intelligence & Automation) มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งด้านดิจิทัล ด้านกายภาพและด้านชีวภาพ ซึ่งผลกระทบจะแตกต่างกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ใน 3 ด้าน ได้แก่

1) ความเร็ว ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทวีคูณ (Exponential)

2) ขอบเขต ครอบคลุมทุกประเภทสินค้าและบริการ

3) ผลกระทบทางระบบ ซึ่งครอบคลุมทุกภาคส่วนและระบบการดำเนินงานของสังคมทั้งหมด

กลุ่มเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในยุค 4IR

1. ด้านดิจิทัล (Digital) อาทิ IoT (Internet of Things), High Speed Internet, Big Data, Cloud Computing,AI (Artificial Intelligence), Digital Platform, E-Commerce/E-Marketplace, Blockchain, Digital Currency,Fintech, E-Banking, E-Payment, Search Engine, Social Media, Network & Sharing Economy การปฏิวัติ

เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ถือเป็นสะพานเชื่อมสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน จากการที่ทุกสิ่งถูกเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ต (IoT) ผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตมีราคาถูกลงมาก ประกอบกับการพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้ง การพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาล ระบบวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลดิจิทัลอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ (Big Data & AI) เพื่อสร้างประโยชน์ได้ในทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลก่อให้เกิดรูปแบบใหม่ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น การติดต่อสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ (Social Media) การซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ผ่าน Digital Platform การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) การทำธุรกรรมผ่านระบบ Blockchain เป็นต้น

2. ด้านกายภาพ (Physical) อาทิ

1) หุ่นยนต์อัจฉริยะ ที่เข้ามาทำงานในภาคบริการและเกษตรมากขึ้น เพิ่มเติมจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถรับรู้ข้อมูลและวิเคราะห์ประมวลผลได้อย่างอัจฉริยะและอัตโนมัติ ผ่านข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาลที่เชื่อมต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ต

2) เครื่องพิมพ์สามมิติ

3) ยานยนต์ไร้คนขับ

4) วัสดุใหม่ เช่น กราฟีนที่มีความหนาเพียงหนึ่งอะตอมเท่านั้น บางกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 1 ล้านเท่า แต่มีความแข็งแรงสูงกว่าเหล็กกล้าที่มีน้ำหนักเท่ากันถึง 200 เท่า เป็นต้น

5) อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart devices)

3. ด้านชีวภาพ (Biological) อาทิ Genetic Engineering, Bioinformatics, Synthetic Biology, Personalized Medicine, Regenerative Medicine & Tissue Engineering, Neurotechnology ซึ่งมีประโยชน์มหาศาลต่อภาคบริการสุขภาพและภาคการเกษตร ในการรักษาโรคติดต่อทางพันธุกรรมต่างๆ การผลิตยา การชะลอวัย การยืดอายุอาหาร รวมทั้งการพัฒนาพันธุ์สัตว์และพืช

ผลกระทบสาคัญของการค้ายุคดิจิทัล

  • Digital Platform มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะ Digital Platform เข้ามาทดแทนตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ขายและผู้ซื้อได้มากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการหาข้อมูลและกระจายข้อมูลให้ทั่วถึงของลูกค้า อาทิ การรีวิวต่างๆ ช่วยทำให้ธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจของบุคคลธรรมดาขยายการผลิตและการค้าได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะในการส่งออกที่ทำให้การค้ายุคใหม่ไร้พรหมแดนมากขึ้นเรื่อยๆ
  • การค้าปลีกออนไลน์ (E-tail) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การค้าระหว่างประเทศปริมาณน้อยๆ ที่มีมูลค่าต่ำขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กหรือบุคคลธรรมดาสามารถทำการค้าได้เองมากขึ้น (B2C หรือ C2C มากขึ้น) ผ่านDigital Platform ต่างๆ เช่น eBay หรือ Alibaba เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้าหรือบริการมูลค่าต่ำประสบปัญหาต้นทุนการค้าที่สูง ทั้งค่าขนส่ง ค่าธรรมเนียมทางการเงิน ค่าพิธีการทางศุลกากร ทำให้ไม่คุ้มกับการทำการค้า ทั้งนี้การศึกษาโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าผู้ส่งออกส่วนใหญ่ที่เกิดใหม่เป็นผู้ส่งออกขนาดเล็ก และส่วนใหญ่ไม่สามารถอยู่รอดในตลาดส่งออกได้นาน การค้าในยุคดิจิตัลจึงสามารถช่วยลดปัญหาการอยู่รอดของผู้ค้าขนาดเล็กได้และทำให้ผู้เล่นรายเล็กๆ และธุรกิจยุคใหม่มีบทบาทมากขึ้น (ถ้าเข้าถึงและปรับตัวเท่าทันเทคโนโลยี)
  • การค้าบริการมากขึ้น เส้นแบ่งระหว่างสินค้าและบริการไม่ชัดเจน จะผสมผสานกันมากขึ้น ทำให้การแบ่งระหว่างภาคการผลิตและภาคบริการไม่ชัดเจน โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวเชื่อมโยงสินค้าและบริการเข้าด้วยกันโดยปรากฏการณ์การผสมผสานนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อสินค้าทางกายภาพถูกใช้เป็น เครื่องมือในการสั่งและให้บริการ (Embedded Services) อาทิ โทรศัพท์มือถือที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสั่งบริการต่างๆ รวมทั้งก่อให้เกิดบริการออกแบบ Application ต่างๆ มากมาย เพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้ง การบริการยังมีความเกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์การออกแบบผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ การให้คาปรึกษา การกระจายสินค้า การตลาดและการขาย การบริการหลังการขาย จึงทำให้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของภาคบริการในมูลค่าการส่งออกสินค้า เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งถ้ามูลค่าเพิ่มของภาคบริการที่ถูก “ซ่อน” อยู่ในมูลค่าสินค้าขั้นสุดท้ายถูกแยกออกมา จะทำให้มูลค่าเพิ่มภาคบริการมีสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 50 ซึ่งมากกว่าภาคการผลิต ที่จากเดิมภาคบริการมีสัดส่วนอยู่เพียงร้อยละ 20-30 ในมูลค่าการส่งออกรวมเท่านั้น ทำให้ภาคบริการเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นกลจักรในการผลักดันการส่งออกอย่างแท้จริง
  • Big Data และการแลกเปลี่ยนข้อมูลมีบทบาทมากขึ้น การเชื่อมโยงกันทางดิจิทัลทำให้อุตสาหกรรมบริการข้อมูลมีบทบาทในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การบริการความปลอดภัยทางไซเบอร์หรือการบริการคอมพิวเตอร์ทางไกล นอกจากนี้ การเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลยังได้ทำให้อุตสาหกรรมบริการดั้งเดิมอื่นๆ เช่น การขนส่ง หรือการบริการที่พัก สามารถถูกส่งออกได้มากขึ้น โดยที่ผู้ให้บริการไม่จาเป็นต้องมีสาขาอยู่ในประเทศของผู้รับบริการ อาทิ Grab, Uber, Airbnb
  • ปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ การหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต และความเป็นส่วนบุคคล จะมีมากขึ้นตามการขยายตัวทางดิจิทัลและการเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามพรมแดน โดยประเทศต่างๆมีกฎระเบียบแตกต่างกัน ทั้งกฎระเบียบด้านการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างประเทศ (Cross Border Data Transfer) การจัดเก็บข้อมูลในประเทศ (Local Data Storage) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Protection)

ผลกระทบภาพรวมต่อการค้ายุคใหม่

  ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่หลายประการ ได้แก่

  • เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการค้า ความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพและความรวดเร็ว ความสะดวก
  • ลดลง ได้แก่ ราคาสินค้าและบริการ ค่าตัวแทนและค่านายหน้า การฉ้อโกง ทุจริตและการคอร์รัปชั่น การพึ่งพิงแรงงานมนุษย์
  • การมีส่วนร่วม โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้บริโภครายย่อยเพิ่มขึ้น อย่างมหาศาล สร้างโอกาสในการเติบโตอย่างทั่วถึง

ระบบเศรษฐกิจไหลลื่น คล่องตัว มีประสิทธิภาพ ขยายตัวอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

แม้ว่า 4IR ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่หลายประการ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ “การปรับตัวสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมียุทธศาสตร์” ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะนโยบายและทิศทางการค้ายุคใหม่ อาทิ 4IR กับการเจรจาการค้ายุคใหม่ โดยจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ อาทิ

1) มุ่งเน้นการเจรจาเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น

2) บูรณาการเจรจาสินค้าและบริการให้มากขึ้น

3) มุ่งเน้นการเจรจาเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับทิศทาง การพัฒนาประเทศไทย อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเคลื่อนย้ายบุคลากร

4) การเจรจาเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ลืมประเด็นทางสังคมและเพิ่มการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

5) การจัดหารหัสสินค้ารองรับสินค้าหรือบริการใหม่ๆ นอกจากนี้ ในอนาคต สนค. จะทำการศึกษา วิเคราะห์ เสนอแนะนโยบายและทิศทางการค้ายุคใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ Trade Foresight กับการค้าระหว่างประเทศ Trade Foresight กับเศรษฐกิจฐานรากและการค้าภายในประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการค้าไทยให้ปรับตัวเท่าทันเศรษฐกิจยุคใหม่ (4IR) ทั้งเชิงรุกและเชิงรับต่อไป

ขอขอบคุณบทวิเคราะห์จาก

ดร.ณัฐ ธารพานิช และนายเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา - กองนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าสินค้าอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ