หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ผู้ประกอบการเอกชนคิวบาได้รับการต้อนรับอย่างดีในไมอามี

ผู้ประกอบการเอกชนคิวบาได้รับการต้อนรับอย่างดีในไมอามี

เนื้อหาสาระข่าว: ผู้ประกอบการเอกชนคิวบาหลายสิบรายเข้าร่วมการประชุมสัมมนาในไมอามีเพื่อหาทางขยายกิจการในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงมาตรการกีดกันสินค้าจากคิวบาอยู่ นับเป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกที่มีผู้ประกอบการเอกชนจากคิวบาจำนวนมากเดินทางเข้ามายังสหรัฐฯ พร้อมกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมากท่ามกลางข้อจำกัดมากมายระหว่างภาครัฐและแนวคิดต่อต้านจากชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบา กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดย Joe Garcia ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะถนอมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจชาวคิวบาและผู้นำธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบาในไมอามี ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญมากของคิวบา

ภาคเอกชนของคิวบามีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการจ้างงานสูงถึง 1.6 ล้านตำแหน่งงาน ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าการจ้างงานโดยภาครัฐไปแล้ว นับตั้งแต่คิวบาปล่อยให้มีการก่อตั้งกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมในปี 2021 ก็มีบริษัทจำนวนมากถึงกว่า 9,100 รายที่มาจดทะเบียนใหม่ และสร้างงานเพิ่มขึ้นถึงกว่า 250,000 ตำแหน่งงานใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้  โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ บรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเหล่านี้มีการนำเข้าเป็นมูลค่าถึง 264 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการส่งออกมูลค่า 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมคาดการณ์ไว้ว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้

การส่งเสริมภาคเอกชนของคิวบาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และคิวบาอยู่ในสภาพที่ตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่งได้ยาก โดยผู้ประกอบการธุรกิจชาวคิวบาก็ยังจะต้องเผชิญกับปัญหานานัปการอยู่ อาทิ ข้อจำกัดในเรื่องข้อมูล กฎระเบียบที่รุนแรงต่างๆ นานา สินค้าขาดแคลน และมาตรการกีดกันทางการค้าโดยสหรัฐฯ แต่รัฐบาลไบเดนก็มีแนวโน้มที่อาจจะเปิดให้ภาคธุรกิจของคิวบาสามารถเข้าถึงระบบธนาคารของสหรัฐฯ ได้ในอีกไม่นานนี้

วิวัฒนาการของภาคเอกชนในคิวบาเริ่มต้นขึ้นหลังจากการปฏิวัติในปี 1959 ด้วยการควบคุมจากภาครัฐและการยึดธุรกิจเอกชนให้เป็นของรัฐ ในปี 1993 กฎหมายก็อนุญาตให้มีธุรกิจภาคเอกชนเปิดดำเนินงานได้อย่างจำกัด จนมาถึงในปี 2011 ก็มีการเปิดให้สิทธิ์กว้างขึ้น และยิ่งเปิดกว้างขึ้นอีกในปี 2021 ท่ามกลางวิกฤติทางเศรษฐกิจและการประท้วงบ่อยครั้ง

ที่น่าสังเกตก็คือ กลุ่มชนเชื้อสายคิวบาในสหรัฐฯ และในคิวบาเองนั้นยังมีความเห็นในประเด็นการส่งเสริมภาคเอกชนของคิวบาที่แตกต่างกันอยู่ โดยยังมีบางคนที่วิจารณ์เรื่องความเชื่อมโยงของธุรกิจที่มีกับภาครัฐ และบางคนก็สนับสนุนให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการกดดันที่รุนแรงต่อภาครัฐคิวบาต่อไป แม้จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย แต่การประชุมสัมมนาครั้งนี้อาจมองได้ว่าเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญ ทำให้เห็นถึงอิทธิพลของชุมชนอเมริกันเชื้อสายคิวบาต่อปัญหาระหว่างสหรัฐฯ และคิวบา

บทวิเคราะห์: สหรัฐฯ และคิวบามีความตึงเครียดทางการเมืองมานานแสนนาน ช่วงรัฐบาลโอบามาก็มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรไปแล้ว แต่พอถึงสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็กลับมาใช้มาตรการรุนแรงใหม่อีกรอบ ด้วยการขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งรัฐบาลไบเดนในปัจจุบันยังคงสถานะดังกล่าวไว้เช่นกัน โดยสรุปแล้วในปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดและข้อห้ามที่ยังบังคับใช้โดยรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่มากมาย มีมาตรการห้ามทำการค้าและธุรกรรมทางการเงินระหว่างกัน รวมถึงข้อจำกัดในการเดินทางของประชาชนสหรัฐฯ ไปยังคิวบาด้วย นอกจากนี้ ระหว่างรัฐต่อรัฐ สหรัฐฯ ยังคงนโยบายโดดเดี่ยวทางการเมืองและยังปฏิเสธสถานะของรัฐบาลคิวบา รัฐบาลไบเดนกำลังค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อาทิ การลดข้อจำกัดในการเดินทางไปคิวบา และการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19 ระบาดที่คิวบาเกิดขาดแคลนสินค้าพื้นฐานหลายอย่าง เศรษฐกิจทรุดตัวลงมาก และในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 ก็มีการประท้วงครั้งใหญ่อันเป็นผลจากความขาดแคลน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ให้การสนับสนุนต่อผู้ก่อการประท้วง และในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสนใจในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยได้เคยเสนอการอบรมและการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ อีก

หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรัฐบาลราอูล คาสโตร ในปี 2011-2013 โดยอนุญาตให้ประชาชนซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ ให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้นและขยายโอกาสให้ประชาชนมีอาชีพอิสระได้ รวมถึงยังได้จัดงาน the Community of Latin American and Caribbean States Summit (CELAC) ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2014 ขึ้นเป็นครั้งแรก และในเดือนพฤษภาคม 2015 รัฐบาลโอบามาได้คัดชื่อคิวบาออกจากรายชื่อประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายและต่อเนื่องด้วยการตั้งสถานทูตอย่างเป็นทางการโดยไม่มีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต หลังจากที่ได้มีโอกาสพบหน้ากันในการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำประเทศในทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นนับครั้งแรกในประวัติศาสตร์นานกว่าครึ่งศตวรรษ ที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้มาพบกัน และประธานาธิบดีโอบามาก็สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งในปี 2016 โดยได้เดินทางไปเยือนคิวบาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 90 ปี และได้ลงนามความตกลงให้สายการบินพาณิชย์จากทั้งสองประเทศสามารถบินไปมาระหว่างกันได้ และในปี 2017 ประธานาธิบดีทรัมป์ก็คว่ำบาตรโดยห้ามชนอเมริกันไปท่องเที่ยวและทำธุรกิจกับคิวบา แต่ยังเปิดช่องให้มีสายการบินพาณิชย์ สายเดินเรือสำราญและกิจการโรงแรม รวมถึงยังคงสถานเอกอัครราชทูตไว้เช่นเดิม

หน้าฉากนั้นดูเหมือนสหรัฐฯ ตัดขาดจากคิวบามานานแสนนานดังกล่าว หลายท่านอาจเข้าใจไปถึงว่าคิวบาถูกชาวโลกโดดเดี่ยวด้วยซ้ำ แต่เมื่อมาดูสถิติตัวเลขการค้าที่แท้จริงก็พบว่าตัวเลขการค้าของคิวบาก็ยังมีเป็นสถิติมาอย่างต่อเนื่อง

คิวบานำเข้าสินค้ารวมมูลค่าประมาณ 15-17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับจากปีที่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ (2011-2019) แต่นับจากปีที่โควิดระบาด (2020-2022) ยอดการนำเข้าลดลงมาอยู่ในช่วง 8-9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและในปีนี้นับถึงเดือนกรกฎาคมก็มีการขยายตัวร้อยละ 15.89 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการส่งออกมีมูลค่าค่อนข้างจะคงที่อยู่ในช่วง 2.8-4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา และจากสถิติเป็นที่น่าสังเกตว่า การคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ แทบจะไม่มีผลต่อมูลค่าการค้ามากนัก คู่ค้าสำคัญในตลาดโลกที่คิวบานำเข้านั้นอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการส่งออกนั้นมีผู้ซื้อจากอาเซียนติดอยู่ใน 20 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนามและมาเลเซีย ส่วนจีนนั้นมีบทบาทสำคัญกับคิวบาทั้งในแง่การนำเข้าและส่งออก

หมวดสินค้าอาหารที่ตลาดคิวบาต้องการ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ธัญพืช เครื่องดื่มมีและไม่มีแอลกอฮอล์ นำมันพืช/จากสัตว์ อาหารจากสัตว์ (นม ไข่ น้ำผึ้ง) หมวดสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงได้แก่ เครื่องจักรขนาดใหญ่ เครื่องมือและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก และยานยนต์ตามลำดับ ในหมวดธัญพืช คิวบานำเข้าข้าวสาลีสูงสุดและมีข้าวขาวอยู่ในลำดับถัดมาตลอดจนถึงปี 2022 ด้วยส่วนต่างที่ลดลงทุกปี และล่าสุดมูลค่าการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการนำเข้าข้าวขาวได้แซงหน้าข้างสาลี ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีความนิยมทานข้าวแทนขนมปังมากขึ้นกว่าเดิม หรืออาจเป็นผลมาจากสงครามในยูเครนซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกข้าวสาลีที่สำคัญระดับโลกกำลังมีปัญหาอยู่ด้วยอีกปัจจัยหนึ่งก็เป็นไปได้ สินค้าส่งออกสำคัญของคิวบาก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งผลิตซิการ์ราคาแพงที่โด่งดังไปทั่วโลก นอกจากนี้ก็มีบรรดาทรัพยากร อาทิ แร่ นิกเกิล ทองแดง นอกจากนี้ก็มี อาหารทะเล น้ำตาล และยา ที่น่าสังเกตคือ หมวดสินค้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดจัดอยู่ในหมวดที่ไม่แสดงรายละเอียดสินค้าและหมวดความลับ

เมื่อคิวบาถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร หลายๆ ท่านอาจคิดว่าคงไม่มีการค้าระหว่างกันไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การค้าระหว่างสหรัฐฯ และคิวบานั้นยังคงมีสถิติบันทึกไว้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในอดีตช่วงก่อนปี 2012 มีการค้ากันเพียงหลักหมื่นถึงหลักแสนดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นงานศิลป์ หลังคิวบาปฏิรูปเศรษฐกิจ (2011-2013) และเริ่มกลับมาสร้างสัมพันธ์กันอีกครั้งกลับเป็นช่วงที่ไม่มีสถิติการนำเข้าสินค้าจากคิวบาเลยตั้งแต่ 2013-2017 ซึ่งในปี 2017 รัฐบาลทรัมป์กลับมาคว่ำบาตรอีกครั้ง แล้วในปี 2018 สหรัฐฯ ก็เริ่มทำสถิติมูลค่าการนำเข้าสินค้าแตะหลักล้านดอลลาร์เป็นปีแรก แล้วมีการขยายตัวสูงสุดในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่โควิด-19 ระบาด แล้วมูลค่าก็ตกวูบลงอีกครั้ง แต่ในปีที่แล้วก็กลับสูงขึ้นมาอีก กลุ่มประเภทสินค้าก็ยังคงอยู่ในกลุ่มงานศิลปะอยู่เช่นเดิม

ในทำนองเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า เมื่อพิจารณาแนวโน้มของมูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ ไปยังคิวบา ก็พบว่าสถิติต่างๆ กับเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่าง 2 ประเทศนี้แล้ว กลับไม่พบว่าสถิติการค้าระหว่างกันได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรต่อคิวบาของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ

สินค้าอเมริกันที่ชาวคิวบาต้องการ ได้แก่ เนื้อสัตว์ (ร้อยละ 80 ของยอดการนำเข้าทั้งหมด) พืชเพื่อใช้ผลิตน้ำมัน ธัญพืช อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม กาแฟ ชา นอกจากนี้ในรายการสินค้านำเข้ายังประกอบด้วยรายการสินค้าที่คิวบาได้รับบริจาคเพื่อมนุษยธรรมจากสหรัฐฯ ด้วย นอกจากสหรัฐฯแล้วก็ยังมีสินค้าในหมวดนี้ ซึ่งรวมถึงสินค้าพื้นฐานปัจจัยสี่ อาทิ อาหาร ยาและเสื้อผ้า จาก แคนาดา เปอร์โตริโก ปานามา และเอกวาดอร์

สำหรับการค้าระหว่างไทยและคิวบานั้น มีมูลค่าระหว่างกันไม่สูงมาก สินค้าส่งออกอันดับแรกคือ ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก อาหารแปรรูป และเวชภัณฑ์ (เฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด) มีมูลค่ารวมประมาณ 1.7 – 10 ล้าดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ จะมีเพียงในปี 2006 ที่มียอดสูงขึ้นกว่าปกติ (30.1 ล้าน) ที่ประเทศไทยอาจมีการร่วมบริจาคทรัพย์สินไปบ้างด้วย ส่วนการนำเข้าสินค้าจากคิวบานั้น มี ซิการ์ เวชภัณฑ์ เหล็ก และเครื่องดื่มมูลค่าอยู่ในกรอบไม่เกินห้าล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อจำกัดที่สหรัฐฯ มีต่อคิวบาโดยย่อ ได้แก่ มีการกีดกันการค้าและธุรกรรมทางการเงิน ห้ามทำการค้าแบบปกติโดยตรงระหว่างกัน ขณะนี้อยู่ในรายชื่อประเทศผู้ไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มกำลังในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เบาลงกว่าเดิมมาก ยังคงห้ามประชาชนสหรัฐฯ เดินทางเข้าคิวบาเพื่อการท่องเที่ยว แต่อนุโลมให้สำหรับการศึกษา นักข่าว หรือการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล อาทิ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในงานศิลปะวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนความรู้ เช่น การเยือนสถานศึกษา พิพิธภัณฑ์และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ไม่สามารถทำการค้าโดยตรงระหว่างกันแบบปกติได้

รัฐบาลไบเดนได้ผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง ได้แก่ การโอนเงินระหว่างประเทศโดยชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบาสามารถโอนเงินให้คนในครอบครัวภายใต้วงเงินที่จำกัด คงสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ทั้งสองประเทศยังคงความสัมพันธ์กันอยู่เพื่อเปิดช่องทางให้สามารถเจรจากันได้ สหรัฐฯ สนับสนุนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ และคิวบาเชื่อมโยงถึงกันและยังสนับสนุน โดยการอบรมและในรูปแบบต่างๆ เพิ่มเที่ยวบินและฟื้นโครงการครอบครัวพบกัน

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: มีสัญญาณหลายประการที่ทำให้เชื่อว่ารัฐบาลไบเดนจะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อคิวบาในไม่ช้าก็เร็ว ทั้งจากการปรับเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลคอมมิวนิสต์คิวบาที่แสดงความเป็นมิตรขึ้นหลังยุคคาสโตรผู้พี่ถึงแก่อสัญกรรมลง ในปี 2016 และราอูล คาสโตรเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อเข้าสู่อำนาจ โดยได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจเอกชนขยายตัวมากขึ้น ท่าทียินดีต้อนรับนักลงทุน แต่ที่น่าจะก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนได้เร็วที่สุดคือแรงกดดันจากสมาชิกในพรรคเดโมแครทเอง อ้างถึงคำสัญญาของไบเดนในช่วงหาเสียงว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

ภาพจำของประเทศคิวบา คือภาพเมืองในอดีตยุค 60s (ตามปฏิทินสากล) และเป็นประเทศยากจน อันเป็นผลมาจากการโดนคว่ำบาตรโดยมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐฯ มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจกำลังประสบวิกฤติรุนแรง เงินเฟ้อพุ่งสูง ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมากในยุคที่ประธานาธิบดี Díaz-Canel เพิ่งเข้าสู่ตำแหน่งวาระ 5 ปีเป็นรอบที่ 2 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ในข่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในคิวบาโดยสหรัฐฯ เริ่มส่งผลในทางบวกแก่ธุรกิจในคิวบา และทุกฝ่ายก็กำลังหาทางขยายผลให้มีการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มมากขึ้น และด้วยเหตุผลนานัปการดังได้กล่าวมาแล้ว รวมไปถึงนโยบายทางภูมิรัฐศาสตร์ เชื่อว่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบาแบบปกติน่าจะเปิดได้ในระยะอันไม่นานเกินรอ ซึ่งในวันนี้แม้จะมีการคว่ำบาตรกันอยู่ สหรัฐฯ ก็ยังมีสถิติการนำเข้าสินค้าพวกของตกแต่ง งานศิลปะอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบอกได้ยากกว่านั่นคือตัวเลขที่แท้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพราะการค้าขาเข้าจากคิวบา นั้นไม่อาจทำได้แบบปกติธรรมดา แต่ต้องมีข้อยกเว้นของกฎระเบียบกติกาต่างๆ จากมาตรการคว่ำบาตรที่ยังมีอยู่ ซึ่งก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีการเข้ามาช่องทางใดเป็นมูลค่าจริงเท่าไร ผ่านระบบที่ตรวจนับอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะต้องศึกษาเจาะลึกกันต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการไทย อาจมองคิวบาว่าเป็นตลาดใหม่ได้ แนวโน้มการนำเข้าข้าวขาวที่เพิ่มสูงขึ้นเกินยอดนำเข้าของข้าวสาลี เป็นหนึ่งสัญญาณที่ทำให้เห็นว่าโอกาสเริ่มเปิดแล้ว เมื่อพูดถึงคิวบาประเทศที่ขาดสภาพคล่อง ประชาชนยากจน ผู้ประกอบการเรียกร้องสินเชื่อระยะยาวถึง 360 – 720 วันนั้น เป็นสิ่งที่ได้พบเห็นมาในอดีต การขยายตัวของการจ้างงานโดยภาคเอกชน ความกระตือรือร้นของสหรัฐฯ และภาคเอกชนคิวบาในการร่วมกันหาหนทางที่จะยุติอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ทำให้เชื่อได้ว่า ปัจจุบันเงื่อนไขในการทำธุรกิจ การขอเงื่อนไขสินเชื่อที่ยาวนานเช่นเดิม น่าจะมีแนวโน้มที่จะปรับเข้าสู่การทำธุรกิจแบบปกติได้ อย่างไรก็ตาม หากตลาดคิวบา มีกำลังซื้อ และมีผู้ที่เข้าไปค้าขายด้วยอยู่แล้ว การขายตรงกับผู้ซื้อในคิวบา ก็ไม่ใช่ช่องทางเดียวแน่นอน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ที่รับผิดชอบคิวบาในอดีตเคยไปร่วมงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ถึง 2 หมื่นตารางเมตรในเมืองฮาวานากันมาแล้ว งานใหญ่ขนาดนี้ มีผู้มาเยือนมากมายขนาดนี้ ย่อมต้องมีโอกาสและช่องทางที่สามารถดำเนินการค้ากันได้ ซึ่งที่ผ่านมา สคต. ไมอามีในฐานะผู้รับผิดชอบตลาดคิวบาในปัจจุบันก็เคยไปเยือนมา และได้เข้าถึงช่องทางที่เป็นทางการเกือบทุกช่องทางแล้ว หากจะบุกตลาดนี้จริง ภารกิจสำคัญอาจต้องเริ่มด้วยการสืบหารายละเอียดของการทำธุรกรรมระหว่างประเทศกับคิวบาที่ผู้ประกอบการทำกันอยู่ ภายใต้กฎระเบียบ เงื่อนไขและข้อบังคับของมาตรการคว่ำบาตรที่มีอยู่ในขณะนี้ให้ได้เสียก่อน แล้วจึงหากลยุทธในการเจาะตลาดที่เหมาะสมต่อไป

*********************************************************

ที่มา: NBC News
เรื่อง: “As Cuba's private sector grows, entrepreneurs get a warm welcome in Miami”
โดย: Carmen Sesin and Orlando Matos
สคต. ไมอามี /วันที่ 5 ตุลาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login